บริหารเวลา บริหารความสำเร็จ

บริหารเวลา บริหารความสำเร็จ

ไม่อาจทำงานแบบเดิมแล้วหวังว่าจะประสบความสำเร็จใหม่ๆ ได้เลย

การบริหารจัดการเวลาของคนในยุคดิจิทัลเช่นทุกวันนี้ยากกว่าในอดีตหลายเท่า เพราะความสลับซับซ้อนของการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และสังคมที่มีความแตกต่างหลายหลายจนทำให้เราแยก

แต่ละเรื่องออกจากกันไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีที่ทำให้เราวางแผนจัดการบริหารเวลาให้ตัวเราเองได้ยากขึ้น

จริงอยู่ว่าเป้าหมายของเทคโนโลยีนั้นช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกวันนี้เรากลับเสียเวลาวันละหลายชั่วโมงให้กับการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย

เทคโนโลยีทุกอย่างล้วนออกแบบให้มีประโยชน์เมื่อใช้อย่างเหมาะสม แต่หากเรารักษาสมดุลไว้ไม่ได้เช่นคนเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่ใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ค ไลน์​ อินสตาแกรม ฯลฯ มากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง ในขณะที่คนรุ่นหลังเจนเนอเรชั่นแซดมีแนวโน้มจะใช้งานมากยิ่งขึ้นเพราะเติบโตมากับเทคโนโลยีเหล่านี้จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

น่าคิดว่ามือถือที่เราหยิบขึ้นมาใช้งานมักจะมีภาพสะท้อนของตัวเราเองปรากฏให้เห็นบนหน้าจอ ในจังหวะที่ก่อนเปิดเครื่อง แต่เมื่อหน้าจอสว่างขึ้นและพร้อมใช้งานแล้วเงาสะท้อนของเราจะหายไปเหลือเพียงแอพพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาแทนที่

เปรียบเสมือนตัวตนของเราที่หายไปทันทีเมื่อเปิดโลกโซเชียลมีเดียขึ้นมา เพราะสีสันที่ปรากฎขึ้นมาเป็นเรื่องราวของเพื่อนฝูงหรือชีวิตของญาติพี่น้อง ทุกอย่างดูน่าสนใจไปหมด ความตระหนักถึงตัวตนของเราจึงลดลงไปเรื่อยๆ

ระหว่างที่เรากดไลค์ กดแชร์ ให้โพสต์ของเพื่อนฝูงและญาติ ๆ เราจึงไม่รู้เลยว่าเวลาผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว โซเชียลมีเดีย จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ดึงความสนใจไปจากเราจนไม่อาจทำงานที่ตั้งใจเอาไว้ได้สำเร็จทันเวลา

ที่สำคัญ โซเชียลมีเดียยังทำให้เราแยกแยะไม่ออกระหว่างงานที่ “ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน” กับงานที่ “สำคัญและเร่งด่วน” เพราะเรามักจะรีบตอบข้อความในโซเชียลมีเดียทันทีทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ในขณะที่บางข้อความก็ไม่จำเป็นต้องตอบแบบทันทีทันใด

ส่งผลให้เราจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันได้ผิดเพี้ยนไปมาก จนงานที่ควรทำก่อนต้องเสียเวลาเพื่อรอให้เราตอบข้อความต่างๆ ในโซเชียลมีเดียให้เสร็จเสียก่อน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วจะตอบวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก

ในขณะที่งาน “สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน” มักจะถูกเพิกเฉยปล่อยไว้นานจนลืม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญต่อตัวเราเองมาก แต่มักเสียเวลาให้กับเรื่องที่ไม่จำเป็นไปหมดจึงดูเหมือนไม่มีเวลามากพอ อย่างเช่นการละเลยการตรวจสุขภาพที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ จนขาดการตรวจสุขภาพไปในที่สุด

ดังนั้นหากมั่นใจว่านั่นเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะไม่เร่งด่วนเพราะตัวเองก็ยังไม่ป่วย แต่หากละเลยก็อาจบานปลายได้ จึงต้องจัดเวลาให้ทันทีและไม่เพิกเฉยเมื่อถึงเวลานัด ซึ่งนี่คือหลักการบริหารเวลาที่เกริ่นไว้ในThink out of The Box ฉบับที่แล้ว

ที่ต้องเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษก็เพราะบ่อยครั้งที่เราพบว่าตัวเองนั้นมีงานวุ่นวายตลอดเวลาจนดูเหมือนบริหารจัดการอะไรไม่ได้เลย แต่ในความเป็นจริงแล้วงานทุกงานไม่ได้เป็นเรื่องด่วนและสำคัญเหมือนกันทั้งหมด การจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะภาวะโรคระบาด ภาวะโลกร้อน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราจึงไม่อาจทำงานแบบเดิมแล้วหวังว่าจะประสบความสำเร็จใหม่ๆ ได้เลย