เราเดินได้...แต่มันดันเดินไม่ได้นี่สิ (จบ)

เราเดินได้...แต่มันดันเดินไม่ได้นี่สิ (จบ)

ในตอนที่แล้วเราพูดถึงวิวัฒนาการของการปรับปรุงทางเท้าที่เดินไม่ได้หรือไม่อยากเดิน มาเป็นทางเท้าที่ชวนเดินมากขึ้น

 แต่เราก็ได้ทิ้งปัญหาไว้ว่าถ้าจะให้ดีทางเท้าที่ดีต้องไม่มีช่องบ๋อมลง (ตรงทางเข้าบ้านหรือคอนโดฯลฯ)มากไป เพราะถ้ามีมากไปเราคนเดินเท้าก็ต้องไต่ขึ้นเดินลง อันนับว่าไม่สะดวกและน่าเดินน้อยลง และเราบอกด้วยว่าควรให้ฝ่ายขับรถเข้าบ้าน เข้าคอนโดนั่นแหละที่เป็นคนที่ต้องไต่ขึ้นไต่ลงที่ทางเท้าก่อนเข้าหรือออกจากบ้านแทนเรา และเราก็หยอดท้ายไว้ด้วยว่า หลายคนคงนึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนที่เดิมเคยขับรถเข้าบ้านแบบสบายๆ จะยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ใครสนใจที่มาที่ไปอ่านบทความตอน 1 เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651122

แล้วมันเป็นไปได้จริงไหม

จริงครับ เรามีรูปภาพพิสูจน์อยู่มากมาย ทั้งในเขตต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร(กทม.) แต่เราขอเลือกเฉพาะภาพที่คนคุ้นตามานำเสนอให้ท่านดู นั่นคือที่ถนนพหลโยธิน ช่วงใกล้อนุสาวรีย์ชัย(ดูภาพที่ 4 และ 5 ที่ต่อเนื่องจากบทความตอน 1) ในภาพจะเห็นทางเท้าที่เดินได้ต่อเนื่อง และตรงทางเข้าบ้านเข้าอาคารก็ไม่มีช่องบ๋อมลงไปของทางเท้าอีกต่อไป ทำให้เดินได้สะดวกและน่าเดินกว่าเดิมมากมาย

ทางเท้านี้ กทม.ได้ทำการปรับปรุงเมื่อ มิ.ย. - ก.ค. 2563 นี่เอง ซึ่งเป็นช่วงที่หลังจากได้มีการเอาสายไฟฟ้าลงดินแล้ว สิ่งนี้ยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมทางกายภาพน่าเดินมากขึ้นไปอีก รวมทั้งทำให้เมืองของเราน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเราต้องขอขอบคุณ กทม.เป็นอย่างมากที่ได้เริ่มทำสิ่งดีๆ นี้ให้แก่บ้านเมืองของเราตามที่เราได้ขอร้องและผลักดันมากันนานพอสมควร

160029989958

ภาพที่ 4 ทางเท้าที่ดี เดินได้ต่อเนื่องและสะดวกสมกับเป็นเมืองหลวงของประเทศ(ถนนพหลโยธิน ก.ค. 2563 )

160029992332

ภาพที่ 5 มีการทำทางราดยางมะตอยอย่างดีตรงบริเวณ ทางเข้าอาคาร ทำให้เดินได้ราบเรียบและต่อเนื่อง 

ส่วนที่เป็นขอบ ทำให้เดินยาก ล้มง่าย แต่จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ก็ยังมีส่วนที่ทางเท้าต้องบ๋อมลง อันทำให้ประชาชนต้องเดินขึ้นเดินลงและ วีลแชร์ต้องไต่ขึ้นไต่ลงตรงขอบทางเท้าที่ระดับไม่เท่ากันอยู่ดี ทั้งที่เป็นถนนเดียวกันก่อสร้างปรับปรุงพร้อมกัน (ดูภาพที่ 6) ถ้า กทม.จะปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการให้สมบูรณ์ตลอดทั้งสายก็จะเป็นพระคุณยิ่งขึ้นไปอีก

160029995846

ภาพที่ 6 บริเวณทางเท้าที่ปรับปรุงแล้วแต่ยังมีส่วนที่เดินไม่สะดวก (ถนนพหลโยธิน ก.ค.2563)

ไหนๆ จะพูดถึงความไม่สมบูรณ์นี้แล้ว ก็ขออนุญาตแถมอีก 2 เรื่อง คือ (1) ฝาบ่อพักของอีกหน่วยราชการยังไม่ได้ระดับเดียวกับทางเท้ายังมีบ๋อมลงไปลึกพอสมควร (ดูภาพที่ 7) ทำให้ข้อเท้าพลิกและเป็นอันตรายต่อคนเดินเท้าและคนพิการได้ รวมทั้ง (2) ชุดตู้ชุมสายก็มิได้มีการปรับปรุงไปพร้อมกัน ทำให้ความสวยงามที่มีนั้นถูกลดทอนลงไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่ายังขาดการพูดคุยและบูรณาการกันอย่างที่หลายคนอยากเห็น ถ้าต่างหน่วยงานของรัฐจะช่วยทำให้สมบูรณ์ขึ้นความขอบคุณของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นหลายเท่าทวีคูณ

ฝาท่อไม่ได้ระดับกับพื้นทางเท้า ตู้ชุมสายอยู่ในสภาพที่อาจไม่ปลอดภัย

160029999559

ภาพที่ 7 ยังขาดการบูรณาการในการทำงานของต่างหน่วยราชการ ทำให้งานยังไม่สมบูรณ์

และมันจะเป็นไปได้จริงไหมที่หน่วยงานรัฐจะบูรณาการกันก่อนเพื่อให้งานออกมาเรียบร้อย คำตอบคือได้ครับภาพที่ 8 ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าสิ่งนี้เป็นไปได้และเป็นไปได้จริงแล้วด้วย

ขอขอบคุณหน่วยงานของรัฐ ที่เริ่มเข้าใจในความสำคัญของทางเลือกที่ดีของการเดินทาง(เฉกเช่นการเดินเท้านี้ ซึ่งนอกจากจะดีต่อคนเดินเท้าแล้ว วีลแชร์และคนที่ใช้จักรยานในการสัญจรก็จะได้ประโยชน์ด้วย) และทำให้มันสะดวกสบาย รวมทั้งลดอันตรายให้แก่พวกเรา ประชาชนคนไทยทุกคน...ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

160030001888

ภาพที่ 8 ตู้อุปกรณ์ของการไฟฟ้านครหลวงบนทางเท้าของกทม. ที่ร่วมกันทำได้ดีน่าชมเชย

////////////

โดย...

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

ชัยพร ภูผารัตน์

สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย