'อีอีซีไอ'หนุนไทยก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ

'อีอีซีไอ'หนุนไทยก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา ที่มุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนให้อุตสาหกรรมสมัยใหม่เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ

แม้นโยบายดังกล่าวจะช่วยยกระดับไทยจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมแต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะผลักดันประเทศไทยก้าวจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ทำให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางนามานานหลายสิบปี

ปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งประเทศไทย ก็คือการขาดการพัฒนาวิจัยสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง ทำให้ไทยต้องเดินตามหลังประเทศเจ้าของเทคโนโลยีมาโดยตลอด เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ 

จุดอ่อนเหล่านี้ได้เริ่มถูกแก้ไข นโยบายที่ริเริ่มโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดขึ้น โดยหัวใจหลักของ อีอีซี ไม่ได้อยู่ที่การดึงอุตสาหกรรมไฮเทคเข้ามาลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ขึ้นมาเป็นหัวใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ เป็นการประสานการวิจัยพัฒนากับภาคการผลิตเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยเน้นในเทคโนโลยีด้านชีวภาพที่สร้างจากจุดแข็งของไทยให้ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลก

เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) กล่าวว่าใน อีอีซีไอ มีโครงการสำคัญอย่างการตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ซึ่งนำวัตถุดิบทางการเกษตร รวมไปถึงวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรต่างๆ ไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นเคมีชีวภาพในรูปแบบต่างๆ เม็ดพลาสติกชีวภาพ มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทดแทนเคมีจากปิโตรเลียมตามกระแสรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการสินค้าชีวภาพมากขึ้น รวมทั้งสกัดสารออกฤทธิ์จากพืชผลและสมุนไพรต่างๆต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยา และอาหารเพื่อสุขภาพ

"โรงงานไบโอรีไฟเนอรีนี้ จะเป็นการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมไทยครั้งที่ 2 หลังจากในครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ไทยได้ลงทุนโครงการปิโตรเคมีที่ภาคตะวันออก โดยโครงการนี้จะทำให้ไทยสามารถคิดค้นเคมีชีวภาพชนิดใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชีวภาพในอนาคต"

ในพื้นที่อีอีซีไอยังมีสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นโครงการวิจัยต้นน้ำขนาดใหญ่ มีมูลค่าลงทุนกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน เพื่อใช้ในการวิจัยเอ็กเรย์ให้เห็นถึงโครงสร้างระดับโมเลกุล เพื่อผลิตวัสดุสมัยใหม่ ผลิตยาชนิดใหม่ การวิจัยโครงสร้างโปรตีน ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้อีกมาก รวมถึงเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรม s-curve เพิ่มความสามารถด้านวิศวกรรมระดับโมเลกุล

โครงการศูนย์วิจัยพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นศูนย์ในการจัดทำมาตรฐานกลางเทคโนโลยี4.0 เพื่อให้เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในโรงงานจากประเทศต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ทั้งหมด ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคตจะมีการตั้งเมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเทคโนโลยีชั้นนำ

อีอีซีไอถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย และสร้างบุคลากรทักษะชั้นสูง ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้อุตสาหกรรมชั้นสูงต่างๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตและวิจัยในไทย หนุนให้ไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้ในที่สุด