Hack the Crisisโมเดลแก้วิกฤตแบบคนรุ่นใหม่

Hack the Crisisโมเดลแก้วิกฤตแบบคนรุ่นใหม่

โลกปัจจุบันเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น ความเสี่ยงต่างๆ มักมีความซับซ้อน ไม่แน่นอน และส่งผลกระทบในวงกว้างจนอาจถึงขั้นเป็นวิกฤติ

ดังเช่นกรณีโควิด-19 ในอนาคต หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงหลายรูปแบบอีกจำนวนมาก (WEF, 2020) การบริหารจัดการวิกฤต สิ่งสำคัญคือความรู้และความเร็ว ซึ่งโมเดลการจัดการแบบเดิมมีจุดอ่อนที่ความเชื่องช้าในการระดมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและรูปแบบการทำงานแบบลำดับขั้นอันเป็นโมเดลการทำงานแบบเก่าในยุคอุตสาหกรร

ปัจจุบัน โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กระบวนการและโมเดลการจัดการใหม่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ภาคธุรกิจและสตาร์ทอัพได้ปรับตัวให้มีการทำงานที่คล่องตัว (Business Agility) ก้าวข้ามความเป็นไซโล ลดขั้นตอนและร่วมระดมทรัพยากรเพื่อตอบโจทย์ภารกิจหลักขององค์กรมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีเทคนิคใหม่เพื่อสร้างสรรค์ไอเดีย โมเดลธุรกิจ สินค้า บริการและวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีนวัตกรรมอีกมากมาย ตัวอย่างเทคนิคหนึ่งที่ใช้มากในปัจจุบัน คือ การระดมสมองผ่านการทำแฮกกาธอน (Hackathon) ที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่คุ้นเคยกระบวนการนี้มากขึ้น

ในช่วงวิกฤติโควิด -19 ที่ผ่านมา มีการจัดแฮกกาธอนที่สำคัญขึ้นเรียกว่า “Hack the Crisis” ซึ่งเป็นความริเริ่มจากประเทศเอสโตเนีย โดย Accelerate Estoniaกับ Garage48 ร่วมกันจัดงานHack the Crisisที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวมพลังสร้างโซลูชันให้ประเทศต่อสู้กับโควิด-19งาน Hack the Crisis ที่เอสโตเนียมีพลเมืองมากกว่า 1,300 คนเข้าร่วมแฮกในงานนี้โดยมีทีมสร้างโครงการรวม 27 ทีมที่ช่วยกันสร้างโซลูชั่นและหลายโครงการได้นำไปสู่การดำเนินงานของรัฐบาล

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2020 เมื่อวิกฤติโควิด-19 เริ่มเกิดขึ้นใหม่ๆ ประเทศเอสโตเนียเป็นประเทศหนึ่งที่เผชิญกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแม้ว่าเอสโตเนียจะมีรัฐบาลดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก แต่ก็ไม่ได้คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่การดำเนินการทางกายภาพจะหยุดชะงักลง เมื่ออัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รมว.การค้าต่างประเทศและไอซีที คุณ Kaimar Karu ได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อใช้วิกฤตินี้เพื่อสร้างสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น (“use this crisis to emerge stronger”)และเพียงหนึ่งวันหลังจากนั้น เหล่าชุมชนเทคโนโลยีของประเทศได้เสนอการจัดเวทีแฮกกาธอนเสมือนจริงระดับชาติขึ้นเพื่อแก้วิกฤติครั้งนี้ที่ชื่อว่า Hack the Crisisซึ่งรัฐบาลยอมรับและช่วยสนับสนุนดำเนินการเพื่อทำให้งานเกิดขึ้นจริงในทันที

Accelerate Estonia ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการนวัตกรรมของภาครัฐ (Lab) ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มการร่วมกันออกแบบและดำเนินโครงการนวัตกรรมได้ร่วมมือกับ Garage48 องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรได้เริ่มต้นจัดงาน Hack the Crisis ที่จัดขึ้นแบบแฮกกาธอนแบบโลกเสมือนออนไลน์ (Virtual Hackathon) ได้ในเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล

Hackathon ครั้งนี้ใช้เวลาแก้ไขปัญหา 48 ชั่วโมงแบบต่อเนื่องแบบไม่หลับไม่นอนโดยหลังจากการเปิดตัวในเวลา 14.30 น. ความคืบหน้าได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง หรือ18:00 น. เหล่าผู้เชี่ยวชาญและประชาชนกว่า 650 คนได้สร้าง 80 ไอเดียสำหรับมาพัฒนาต่อ ในเย็นวันนั้นทีมงานกว่า 30 ทีมได้เริ่มทำงานเพื่อออกแบบแนวคิดให้ชัดเจนขึ้น ในตอนท้ายของงานแฮกกาธอนมีการเสนอแนวคิด 96 ไอเดียและมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 1,000 คนจากกว่า 20 ประเทศ

ในงานนี้ รัฐบาลมอบรางวัลเงินสดจำนวน 5,000 ยูโรสำหรับแนวคิดที่ชนะ 5 อันดับแรกเพื่อช่วยทีมพัฒนาแนวคิดต่อรวมถึงสนับสนุนพื้นที่ทำงานร่วมกันและจัดหาทรัพยากรที่จำเป็น ในตอนท้ายของกิจกรรมมี 27 ทีมที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อพัฒนาแนวคิดไปสู่การปฏิบัติโดยมี 8 แนวคิดที่ปัจจุบันได้นำไปใช้โดยรัฐบาล เช่น

โครงการ SUVE ซึ่งเป็นแชทบ็อตอัตโนมัติใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตอบคำถามจากประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สามารถให้คำตอบได้หลายภาษาและกลายเป็นแชทบ็อตที่ฝังตัวอยู่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลหลายแห่ง โครงการ Database for medically trained volunteers เพื่อช่วยโรงพยาบาลในการค้นหาและจัดการบุคลากรที่มีความสามารถที่เหมาะสมช่วยป้องกันการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข โครงการ ShareForce One ที่ช่วงจับคู่พนักงานที่ตกงานในช่วงวิกฤติ เช่นพนักงานร้านอาหารและโรงภาพยนตร์ กับธุรกิจที่ต้องการพนักงานชั่วคราว ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19

หลังความสำเร็จของ Hack the Crisis เอสโตเนีย ได้มีการจัดแฮกกาธอนแบบนี้อีกมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย และขยายไปสู่การเกิดขึ้นของ แฮกกาธอนโลก” (Global Hack)ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการยุโรปองค์การสหประชาชาติและธนาคารโลกและบริษัทต่างๆเช่น Facebook, Slack และ Zoom และมีผู้ร่วมกว่า12,000 คนจาก 98 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่กักตัวอยู่ในบ้าน

ตัวอย่างโครงการ เช่น SunCrafter ซึ่งเป็นผู้ชนะของ Global Hack ได้ระดมสมองพัฒนาจุดฆ่าเชื้อแบบไม่สัมผัสโดยใช้หลอด UV เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนมือมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยภายในเวลาไม่เกิน 20 วินาที และใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้แล้ว หรือโครงการAct on Crisisซึ่งพัฒนาโดยทีมงานจาก 5 ประเทศโซลูชันนี้ช่วยให้ผู้ที่กักตัวอยู่บ้านได้รับการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตผ่านวิดีโอคอลจากผู้เชี่ยวชาญโดยจับคู่ตามความต้องการเฉพาะและภูมิหลังทางวัฒนธรรม

โมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ๆ แบบ Hack the Crisis เหล่านี้จึงช่วยดึงพลังทางปัญญาของคนในประเทศและทั่วโลก เพื่อสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์วิกฤติได้อย่างรวดเร็วและกำลังกลายเป็นกระแสหลักที่คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมสูงมาก 

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา(Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/