การระงับข้อพิพาทตามFTAไทยออสเตรเลีย กรณีเหมืองทอง

การระงับข้อพิพาทตามFTAไทยออสเตรเลีย กรณีเหมืองทอง

ความตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลีย (Thailand – Australia Free TradeAgreement : TAFTA) ได้มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547

มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่1 มกราคม2548 ขอบเขตความตกลงครอบคลุม การค้าสินค้าทุกรายการที่มีการค้าขายระหว่างกัน รวมทั้งการเปิดตลาดด้านบริการและการลงทุนด้วย

ความตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุน บัญญัติไว้บทที่ 9 ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนที่มีอยู่เมื่อวันที่ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับด้วย การส่งเสริมคุ้มครองการลงทุนบัญญัติไว้ในส่วนที่4ข้อ908ถึงข้อ915 การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศภาคีกับผู้ลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งบัญญัติในข้อ917 คือให้มีการเจรจาหารือกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็อาจเลือกฟ้อต่อศาลหรือองค์กรของฝ่ายบริหารที่มีอำนาจ หรือ จะเสนอเรื่องให้ศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ ที่ตั้งขึ้นตามกฎเกณฑ์ของอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL) ชี้ขาดก็ได้

ข้อพิพาทเหมืองทอง

ปี 2543 รัฐบาลให้สัมปทานการขุดเหมืองทอง ชื่อชาตรี โดยบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัดแห่งประเทศออสเตรเลีย ชนะได้สิทธิสัมปทาน และให้บริษัทอัคราไมนิ่งจำกัด บริษัทลูก เป็นผู้ดำเนินกิจการ ขุดเหมืองทอง หลังจากขุดทองมาได้หกปี มีชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบ ทั้งเสียงรบกวน น้ำตามธรรมชาติถูกทำลายมีสารปนเปื้อน ไม่สามารถใช้น้ำตามธรรมชาติได้อีก มีอาการเจ็บป่วย แต่ต่อมา บริษัทอัครารีซอร์ศเซส จำกัด บริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัดได้รับสัมปทานที่เรียกว่า เหมืองทองคำชาตรีเหนือ เพิ่มอีก เป็นเวลา 20ปี จากปี2551ถึงปี2571

เมื่อมีการทำเหมืองมากขึ้นก็มีเสียงชาวบ้านร้องเรียนเรื่องได้รับผลกระทบและมีความเจ็บป่วยมากขึ้น มีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองและสนับสนุนให้ทำเหมือง มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในที่สุด รัฐบาลโดย คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่72/2559 ลงวันที่13 ธันวาคม2559สั่งระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ และการต่ออายุการประกอบแร่ทองคำไว้ก่อน และให้ผู้ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ระงับการประกอบกิจการไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

จากคำสั่งให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองไว้ก่อนดังกล่าว ในที่สุดบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัดจึงได้อาศัยบทบัญญัติ TAFTA เสนอข้อพิพาทให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ประเทศสิงคโปร์ชี้ขาด

ขั้นตอนวิธีพิจารณา การวินิจฉัยชี้ขาด ของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่สิงค์โปรเป็นไปตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสิงค์โปร (INTERNATIONAL ARBITRATION ACT (CHAPTER 143A) ซึ่งมีบทบัญญัติหลายมาตราที่อ้างและให้นำบทบัญญัติ ของ UNCITRAL Model law on International Commercial Arbitration 1985 ที่เรียกว่าModel Lawบางข้อบางมาตรามาใช้บังคับด้วย

บทบัญญัติที่สำคัญคือ เปิดช่องให้มีการไกล่เกลี่ย ถ้าคู่พิพาททำหนังสือยินยอมให้มีการไกล่เกลี่ยโดยให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยก็ได้และถ้าคู่พิพาทยินยอมตกลงตามที่มีการไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการจะนำความยินยอมตกลงนั้นมาทำคำเป็นคำขี้ขาด โดยมีผลเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผูกพันคู่พิพาททุกฝ่าย และคำชี้ขาดนั้นอาจมีผลบังคับเฉกเช่นคำพิพากษา เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลสูงหรือผู้พิพากษาศาลสูง แต่อย่างไรก็ตาม ข้อ 24ของกฎหมายอนุญาโตตุลาการของสิงค์โปรดังกล่าว ศาลสูงของสิงคโปร์อาจ ไม่ยอมรับคำชี้ขาดนั้นนอกเหนือจากกรณีตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา34(2)ของModel Law ถ้าปรากฏว่าคำชี้ขาดเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากการฉ้อฉลหรือคอร์รัปชั่น หรือเกิดจากอคติฝ่าฝืนความเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการทำคำชี้ขาดที่เป็นผลเสียหายต่อคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่ง

การต่อสู้ของไทย

 เมื่อบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัดเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดตามบทบัญญัติของTATA ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี ก็เข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ในนามประเทศไทยมิใช่ในนามบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งก็มีช่องทางสู้คดี ตามที่บัญญัติใน ข้อ912 ข้อย่อย 1ของ TAFTA และถ้าปรากฏว่าการให้สัมปทานทำเหมืองทองที่พิพาทกันเกิดจากการคอร์รัปชั่น ตามที่เป็นข่าว ก็อาจทำให้การต่อสู้ของไทยเพิ่มน้ำหนักมากขึ้น

การเพิกถอนและการบังคับตามคำชี้ขาด

ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการที่สิงค์โปรมีคำชี้ขาดให้เป็นไปตามคำขอของผู้ร้อง ถึงแม้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จะผูกพันคู่พิพาททุกฝ่าย แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีสภาพหรือบทบังคับแบบคำพิพากษาของศาลหากจะให้มีผลเช่นเดียวกับคำพิพากษาจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลสูงหรือผู้พิพากษาศาลสูงซึ่งกรณีเช่นนี้ฝ่ายไทยอาจโต้แย้งตามข้อ24ของกฎหมายสิงคโปร์ดังกล่าวได้ และแม้จะได้รับอนุญาตจากศาลสูง ให้คำชี้ขาดมีสภาพบังคับดังคำพิพากษา คำชี้ขาดดังคำพิพากษานั้นก็ไม่มีเขตอำนาจบังคับเหนือดินแดนไทยการบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดในดินแดนไทย จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 คือ

บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัดต้องยื่นคำร้องต่อศาลไทยทีมีเขตอำนาจ ภายในสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ นอกจากการยื่นขอให้บังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดที่ศาลไทยแล้ว บริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดเต็ด จำกัดก็อาจยื่นขอให้บังคับตามคำชี้ขาดที่ศาลประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกตามอนุสนธิสัญญาว่าด้วยยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ก ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 ก็ได้ แต่ก็บังคับได้เฉพาะกับทรัพย์สินของประเทศไทยที่อยู่ในเขตแดนประเทศนั้นเท่านั้น

การต่อสู้ข้อพิพาทในศาลไทย ไทยไม่อาจยื่นคำขอให้ศาลไทยเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในสิงคโปร์ ตามมาตรา40 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ.2545 ได้ เพราะเป็นอำนาจเฉพาะของศาลที่มีเขตอำนาจในประเทศที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่2952/2560) แต่ไทยยังมีโอกาสต่อสู้เมื่อคู่พิพาทยื่นคำขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดในศาลไทย ตามมาตรา 44โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นที่มาของสัญญาสัมปทานเป็นไปโดยทุจริตมิชอบ การดำเนินงานของเหมืองทองที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อสุขอานามัย ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงไม่พึงมีสิทธิเรียกร้องความเสียหาย จากการหยุดดำเนินการดังกล่าว