สกุลเงินดิจิทัลในโลกยุคใหม่

สกุลเงินดิจิทัลในโลกยุคใหม่

ขอต้อนรับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ที่ต้องมาเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ

ที่สืบเนื่องจากโรคระบาด Covid-19 นอกจากนี้ยังต้องมองไกลในอนาคตและสานต่อโครงการอินทนนท์ที่ ธปท. ทำการทดลองออกสกุลเงินรูปแบบใหม่ที่ถูกเรียกว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) เพื่อเป็นสกุลเงินสำหรับโลกยุค Digital Economy ในอนาคตวันนี้จะมาชวนคุยเรื่องสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางกันครับ

ความจำเป็นในการออกเงินรูปแบบ Digital currency นี้ ได้รับแรงกดดันจากการเกิดขึ้นของ Digital currency ใหม่ๆซึ่งหมายรวมถึง e-money (ออกโดยภาคเอกชนที่ต้องการทำธุรกิจ Payment system), cryptocurrency(ออกโดย Start-up ที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้), และ virtual coin(ออกโดยผู้สร้างเกม หรือผู้ผลิต Softwareต่างๆ) หรือเมื่อปีที่แล้วที่ Facebook ได้เปิดเผยแนวคิดเงินสกุลLibra ซึ่งถือเป็นสกุลเงินหนึ่งในกลุ่ม Cryptocurrency เพื่อมาแข่งขันกับสกุลเงินดั้งเดิมที่ออกโดยธนาคารกลาง

ดังนั้นธนาคารกลางหลายประเทศจึงมีแผนทดลองการออกสกุลเงิน CBDC ในช่วงปี 2020 เพื่อให้ประชาชนยังคงมีความสนใจใช้เงินที่ออกโดยธนาคารกลางเช่นเดิม เช่นจีน ฝรั่งเศส สวีเดน ซาอุดิอราเบียและตุรกี เป็นต้น โดยเทคโนโลยีดิจิทัลได้เพิ่มโอกาสให้ธนาคารกลางสามารถนำเสนอกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งบัญชีเงินฝากแก่ประชาชนได้โดยตรงอย่างไรก็ตามรูปแบบการออก CBDC ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในระดับสากล

ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวภายใต้โครงการชื่อ เทคโนโลยีพลิกผันในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและบทบาทของธนาคารกลางในทศวรรษหน้า ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)” โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์รูปแบบและวิธีการในการสร้างเงินCBDC ว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอย่างไร

ผลการวิเคราะห์พบว่า Digital currency ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปแบบของ Pre-paid basis คือจะต้องมีการนำเงินในปัจจุบันไปแลกซื้อเงิน Digital currency ดังกล่าวเพื่อดำเนินธุรกรรมจำเพาะในระบบนิเวศน์ปิดของผู้สร้างเงินนั้นขึ้นมา หากผู้ใช้เงินต้องการทำธุรกรรมเป็นวงกว้างในระบบเศรษฐกิจก็จะต้องแลกเงิน Digital currency ดังกล่าวกลับมาเป็นสกุลเงินดั้งเดิม ดังนั้นผลกระทบต่อปริมาณของเงินในระบบจึงค่อนข้างจำกัด หากระบบนิเวศน์ปิดดังกล่าวไม่ได้มีความแพร่หลายครอบคลุมทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของประชาชน

หาก Digital currency ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง สิ่งที่น่ากังวลคือจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน Digital currency จนอาจทำให้ขนาดของงบดุลของธนาคารกลางลดลง และลดประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายด้านการเงินได้ เช่นธนาคารกลางอาจไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพื่อควบคุมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ หรือระดับอัตราเงินเฟ้อเหมือนอย่างในปัจจุบันได้เช่นเดิม

ดังนั้นธนาคารกลางหลายประเทศจึงเริ่มทดลองออกเงินสกุลดิจิทัลใหม่ที่เรียกว่า CBDC โดยสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบได้แก่ 1) ในรูปของเหรียญดิจิทัล (Token-based CBDC) ซึ่งจะมีคุณลักษณะแบบธนบัตรหรือเหรียญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และ 2) ในรูปแบบบัญชี (Account-based CBDC) ซึ่งจะมีคุณลักษณะแบบบัญชีธนาคารที่ได้รับดอกเบี้ย

ประโยชน์ของการออก Token-based CBDC คือระบบสถาบันการเงินในปัจจุบันจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะประชาชนเพียงแค่เปลี่ยนจากเงินธนบัตรที่จับต้องได้มาอยู่ในรูปเหรียญดิจิทัลที่สามารถนำไปใช้จ่าย หรือนำไปฝากในบัญชีธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเหมือนอย่างในปัจจุบัน

แต่ข้อจำกัดของ Token-based CBDC คือธนาคารกลางจะไม่สามารถดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบเหมือนในปัจจุบัน เพราะประชาชนสามารถตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเงินในบัญชีธนาคารที่มีดอกเบี้ยติดลบมาเป็น Digital Token ที่มีดอกเบี้ยเท่ากับศูนย์ได้ตลอดเวลา

แต่หาก CBDC มีการนำเสนอในรูปแบบ Account-based CBDC ธนาคารกลางจะมีอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะกับกรณีที่มีการนำเสนอควบคู่กับการยกเลิกธนบัตรและเหรียญ นอกจากนี้ธนาคารกลางยังสามารถส่งผ่านนโยบายด้านดอกเบี้ยไปยังประชาชนได้โดยตรง โดยไม่ต้องหวังพึ่งพิงการส่งผ่านนโยบายจากธนาคารพาณิชย์เหมือนอย่างในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามการนำเสนอAccount-based CBDC มีประเด็นสำคัญที่จะต้องตัดสินใจคือบัญชีดังกล่าว จะเป็นบัญชีที่ประชาชนเปิดโดยตรงกับธนาคารกลางได้เลย หรือยังคงเป็นบัญชีที่ประชาชนเปิดกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

หากเป็นบัญชี CBDC ที่เปิดกับธนาคารกลางจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีคู่แข่งเพิ่มเติมจากบัญชีเงินฝากที่เสนอโดยธนาคารกลาง ถึงแม้ระดับอัตราดอกเบี้ยของบัญชีดังกล่าวจะน้อยกว่าบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์แต่ในสภาวะวิกฤติอาจเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนแห่ถอนเงินออกจากระบบธนาคารพาณิชย์มาฝากยังบัญชีที่ธนาคารกลางได้อย่างฉับพลันจนทำให้เกิดวิกฤติสภาพคล่องได้

สิ่งที่ต้องพึงระวังหากธนาคารกลางนำเสนอบัญชี CBDC โดยตรงกับประชาชน คือระบบการให้สินเชื่อที่ในปัจจุบันเป็นการให้สินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์นั้น จะยังเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพต่อไปหรือไม่ หรือธนาคารกลางจะกลายเป็นผู้ผูกขาดการปล่อยสินเชื่อจนกลายเป็นธนาคารของรัฐ (State bank)

สำหรับในประเทศไทย ธนาคารกลางได้เริ่มทดลองออก CBDC ภายใต้โครงการที่เรียกว่า อินทนนท์ ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 มีการทดลองเป็น Wholesale token สำหรับสถาบันการเงินในประเทศในการชำระเงินระหว่างกัน และทำการทดลองกับธนาคารกลางฮ่องกงเพื่อทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ ส่วนในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มทดลอง CBDC ในแบบ Retail token กับภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

จะสังเกตเห็นว่า ปัจจุบัน CBDC ยังคงเป็นการทดลองในหลายรูปแบบ ทำให้สิ่งที่ต้องมีการถกเถียงกันต่อไปคือ CBDC ที่เหมาะสมที่สุดต่อประชาชนและเศรษฐกิจไทยโดยรวมควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นการบ้านอีกชิ้นหนึ่งที่ท่านผู้ว่าคนใหม่คงจะต้องตัดสินใจในอนาคต

โดย...

รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย