กฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจจริงหรือไม่

กฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจจริงหรือไม่

ประเทศไทยมีการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการบังคับใช้กฎหมายมาเป็นเวลาช้านาน เริ่มต้นจากในสมัยโบราณจนกระทั่งเข้าสู่ยุคทันสมัยปัจจุบัน

ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปแต่ความหมายของกฎหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก กฎหมายหมายถึงกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบที่ได้ตราขึ้นมีสภาพบังคับใช้กับสมาชิกภายในสังคม เพื่อเป้าหมายการมีสังคมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสงบสุขและมีเป้าหมายอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและความต้องการของสังคม

ดังนั้นลักษณะพิเศษประการหนึ่งของกฎหมายคือการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบให้สอดรับกับสภาพของยุคสมัยและสังคม ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งฝ่ายตุลาการหรือศาล ต่างมีส่วนร่วมในกระบวนการเสนอและร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาบังคับใช้ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับเก่าให้มีความก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ผู้เขียนจึงเสนอประเด็นเพื่อนำมาเป็นข้อขบคิดว่า กฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจจริงหรือไม่

จากประเด็นกฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจจริงหรือไม่นั้น ถ้าหากนำปัจจัยการมีส่วนร่วมในกระบวนการเสนอและร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาบังคับใช้ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับเก่าให้มีความก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการแล้วจะพบว่า กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจอย่างเสมอ เช่น

1) เหตุผลของการบังคับใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2477 (ฉบับที่ 2) เนื่องจากกฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่อง ออกตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2477 (ฉบับที่ 2) ในเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นผู้นำร่องได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับการกำหนดหน้าที่ของผู้นำร่องยังไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของผู้นำร่องในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นผู้นำร่องสอดคล้องกับคุณวุฒิทางการศึกษาของประเทศไทยที่มีเพิ่มมากขึ้นและหน้าที่ของผู้นำร่องสอดคล้องกับการนำร่องในระดับสากล

2) เหตุผลของการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2563 เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีและอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ารถยนต์นั่งสามล้อแบบพลังงานไฟฟ้า กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ สนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ รวมทั้งขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ายาสูบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม

จากตัวอย่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแต่ละฉบับ ในแต่ละครั้งย่อมมีสาเหตุความเป็นมาและความจำเป็นของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นมาและความจำเป็นดังกล่าวนั้นย่อมแสดงหรือสื่อให้เห็นได้จากข้อความที่เป็นเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวง ดังนั้นจึงเป็นเครื่องยืนยันในระดับหนึ่งได้ว่ากฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคมและเศรษฐกิจอย่างเสมอ

นอกจากนี้ยังเคยมีการตรากฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบันอีกเช่นเดียวกัน คือ พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2546 เนื่องจากตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายเป็นจำนวนมาก และไม่มีการยกเลิกอย่างเป็นระบบ โดยมีการตรากฎหมายใหม่และใช้กฎหมายใหม่โดยไม่ยกเลิกกฎหมายเก่า หรือกฎหมายบางฉบับไม่มีการใช้บังคับเพราะใช้ไม่ได้ผล หรือไม่มีกรณีที่จะใช้เพราะไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเกิดข้อสงสัยว่ากฎหมายบางฉบับยังคงใช้บังคับอยู่หรือไม่ หรือยังควรมีกฎหมายเช่นนั้นอยู่หรือไม่

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลังบางฉบับ เช่น กฎหมายโปลิศ 53 ข้อ ซึ่งจะรักษาน่าที่ในพระนคร แลนอกพระนคร พ.ร.บ.ลักษณพยาน ปีรัตนโกสินทร์ศก 113 พ.ร.บ.ป้องกันโรคสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทรศก 119 ประกาศเพิ่มเติม พ.ร.บ.สำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทรศก 119 พ.ร.บ.สำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2474 พ.ร.บ.สำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะแก้ไขเพิ่มเติม ฉะบับที่ 2 พุทธศักราช 2474 หรือ พ.ร.บ.รถลาก รัตนโกสินทรศก 120 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ได้ตราขึ้นและบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว มิได้มีการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจแต่อย่างใด แม้ว่านักกฎหมายจะได้มีการศึกษาวิจัยอย่างหลากหลายและเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายก็ตาม เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก เรื่อง การสืบมรดกและการรับมรดกแทนที่ เป็นต้น

ท้ายที่สุดแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันเป็นเครื่องยืนยันประการหนึ่งว่า กฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เพียงแต่อาจมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้ทันท่วงทีตามสถานการณ์เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้ทำหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หลักในการให้ความยินยอมในการตราและบังคับใช้กฎหมาย หรือสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ เป็นต้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันเพื่อทำให้กฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อเป้าหมายการมีสังคมที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความสงบสุข.