เมื่อพรุ่งนี้จะไม่เหมือนเมื่อวาน

เมื่อพรุ่งนี้จะไม่เหมือนเมื่อวาน

ข่าวดังอาทิตย์ที่แล้ว คือ การลาออกอย่างกระทันหันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เข้ามารับตำแหน่งไม่ถึงเดือน

สร้างความชะงักงันต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาและความเชื่อมั่นของนักลงทุน พูดได้ว่าตั้งแต่ทีมเศรษฐกิจเดิมลาออกไปเมื่อกลางเดือน ก.ค.จนถึงต้นเดือนนี้ ที่รัฐมนตรีการคลังลาออก ประเทศเราไม่มีทีมและนโยบายเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างเป็นระบบมานานกว่า 1 เดือน ซึ่งผู้เสียหายหลักคือคนทั้งประเทศที่รอการแก้ไขปัญหาอยู่

 

เรื่องหนึ่งที่เป็นผลชัดเจน จากช่องว่างของการไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่องในการแก้ปัญหา คือ ปัญหาเศรษฐกิจได้รุนแรงขึ้น และเริ่มมีพลังของตัวเองที่ทำให้ปัญหาจะแก้ยาก และสามารถมีผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจและพฤติกรรมของคนในสังคม เหมือนก้อนหิมะ(Snowball) ที่ไหลลงจากเขาที่จะใหญ่ขึ้นๆ และมีพลังในการสร้างความเสียหายมากขึ้น

 

เริ่มจากธุรกิจที่ต้องหยุดหรือปิดกิจการจากผลของวิกฤติ เกิดการว่างงาน คนตกงานไม่มีรายได้ ไม่ใช้จ่าย ลดกำลังซื้อและความต้องการที่จะใช้จ่ายในประเทศ กดดันราคาสินค้าให้ปรับลดลง ผู้ประกอบการขาดรายได้ ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ กดดันให้ปริมาณหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการปิดกิจการมากขึ้น คนตกงานเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจไม่มีการใช้จ่าย เป็นวงจรที่ยิ่งวันยิ่งโต และยิ่งไม่มีมาตรการของรัฐเข้ามาแก้ไขอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง ก้อนหิมะของปัญหาก็จะใหญ่ขึ้น ส่งผลกระทบมากขึ้น และมีพลังที่จะทำให้ปัญหาแก้ยากขึ้น

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ วิกฤติคราวนี้กระทบคนในสังคมไม่เท่ากัน ในเรื่องนี้ตัวเลขจากการสำรวจของมูลนิธิเอเชีย หรือ Asia Foundation ชี้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศที่ถูกกระทบจากวิกฤติคราวนี้ รายได้ลดไปกว่าครึ่งโดยเฉลี่ย กระทบความสามารถที่จะใช้จ่าย เพื่อดูแลชีวิตของตนเองและครอบครัว และผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยและจะอยู่ในธุรกิจนอกระบบ(Informal sector)

 

ผลคือ สังคมไทยขณะนี้ในแง่ผลกระทบของวิกฤติเหมือนจะเป็นสังคมสองสังคมซ้อนกันอยู่ คือ มีสังคมส่วนบนที่มีสายป่านยาว มีเงินออม มีรายได้จากการทำงาน การออม หรือเป็นเจ้าของกิจการที่ยังทำธุรกิจอยู่ได้ กลุ่มคนเหล่านี้จะรู้สึกว่าสำหรับพวกเขาวิกฤติโควิดได้จบลงแล้ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนปรกติ และใช้จ่ายได้เหมือนเดิม แต่เศรษฐกิจที่หดตัวมีผลต่อธุรกิจและการหารายได้ และในเมื่อคนส่วนใหญ่ขาดรายได้และกำลังซื้อลดลง ในสายตาของคนกลุ่มนี้ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อยากให้รัฐทำคือกู้เงินมากขึ้น และนำเงินกู้มาใช้จ่าย มาเยียวยาคนที่ไม่มีรายได้เพื่อให้คนเหล่านี้ใช้จ่าย สร้างพลังซื้อให้กับคนในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและให้ธุรกิจของพวกเขาได้ประโยชน์

อีกกลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อยลงจากผลของวิกฤติจากที่ธุรกิจต้องปิด หรือตกงาน ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เพราะไม่มีเงินออม หรือไม่มีระบบประกันสังคมที่จะเข้ามาช่วยรองรับ คนกลุ่มนี้ต้องการให้รัฐช่วยเหลือด้วยการสร้างงาน เพื่อให้มีรายได้ต้องการให้รัฐดูแลในเรื่องหลักประกันพื้นฐานเพื่อการมีชีวิตที่ไม่ลำบากในสังคม สำหรับคนกลุ่มนี้วิกฤติคราวนี้ยังไม่จบและยังต้องต่อสู้อีกมาก เพราะหมายถึงความอยู่รอดและโอกาสของการมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งรวมถึงโอกาสของการมีงานทำ มีรายได้ ให้การศึกษาแก่บุตรหลานเพื่อให้ชีวิตของตนเองและอนาคตของลูกหลานดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

นี่คือโจทย์ที่รอการแก้ไขที่ต้องมาจากบทบาทของภาครัฐอย่างเดียว ที่ต้องชั่งน้ำหนักและตัดสินใจทำให้บทบาทของภาครัฐที่ถูกต้องและต่อเนื่องจึงสำคัญเพราะสามารถลดความเดือดร้อนและสร้างความหวังให้กับคนในประเทศได้ ตรงกันข้าม การไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง หรือแก้ปัญหาโดยการใช้เงินเยียวยาเป็นครั้งคราวอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างความหวังอย่างที่คนส่วนมากต้องการ ทำให้พรุ่งนี้จะไม่แตกต่างกับเมื่อวาน ขณะที่ประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพื่อให้พรุ่งนี้ของทุกคนดีกว่าเมื่อวาน เป็นความหวังที่คนส่วนใหญ่ของประเทศขณะนี้ต้องการ