ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ : การลงทุนเพื่อการศึกษาสำคัญเพียงใด?

ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ : การลงทุนเพื่อการศึกษาสำคัญเพียงใด?

การลงทุนทางศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หากประเทศใดมีทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพก็จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ตลาดแรงงาน และประเทศชาติ

โดยเฉพาะภายใต้สภาวะโลกแบบ VUCA[1] ที่ทุกอย่างหมุนเร็วขึ้นมากกว่าอดีตจากการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่า เทคโนโลยีดิสรัปชั่น รวมถึงวิกฤตล่าสุดโรคโควิด 19 ยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างคนที่มีทักษะหลากหลาย เพื่อให้สามารถปรับตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์

ประโยชน์การลงทุนการศึกษาสร้างอาชีพ ความเท่าเทียมทางรายได้ และการเติบโตอย่างยั่งยืน

ในทางเศรษฐศาสตร์ โมเดล Endogenous growth[2] อธิบายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่เกิดจากปัจจัยภายใน เช่น การพัฒนาทุนมนุษย์ คือ การเพิ่มความรู้และทักษะให้แรงงานซึ่งมีผลดีต่อการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของงานได้มาก และอัตราการเสื่อมของทุนทางกายภาพ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ และคอมพิวเตอร์ หากประเทศใดยิ่งมีสัดส่วนของทุนมนุษย์ต่อทุนกายภาพสูง ก็จะยิ่งสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น รวมทั้งการศึกษาที่สูงขึ้นยังช่วยสร้างแรงงานที่สามารถผลิตนวัตกรรมได้เองช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลิตภาพของแรงงานขั้นพื้นฐานได้ด้วย

ผลวิจัยของ UNESCO ในปี 2557 คาดการณ์ว่าหากสอนนักเรียนทุกคนในประเทศกำลังพัฒนาให้อ่านออกเขียนได้ จะสามารถลดจำนวนคนยากจนทั่วโลกได้ถึง 171 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าการศึกษายังมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศ

ประโยชน์ของการลงทุนด้านการศึกษามีหลายมิติทั้งต่อแรงงานคือ ทำให้มีโอกาสเลือกงานที่เหมาะสมกับความชอบ ความถนัด และมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งระหว่างบริษัทและภาคเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ต่อนายจ้างคือ ช่วยเพิ่มผลิตภาพ เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ส่วนผลประโยชน์ต่อสังคมคือ ทำให้เกิดการเลื่อนสถานะทางสังคม (Social mobility) เช่น การที่คนรุ่นพ่อแม่มีการศึกษาสูงจะทำให้คนรุ่นลูกได้รับการศึกษาสูงขึ้นด้วยเพราะครอบครัวเห็นความสำคัญของการศึกษา ทำให้คนรุ่นต่อมามีหน้าที่การงานและรายได้ที่มั่นคง ลดปัญหาความยากจนและปัญหาอาชญากรรมได้

นอกจากนี้ การศึกษายังมีส่วนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความเท่าเทียม ทั้งในการออกความเห็นในสังคม การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศ สังเกตได้จากคนรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงความคิดเห็นและมีจุดยืนเป็นของตัวเอง

คุณภาพการศึกษาไทยเทียบกับนานาชาติเป็นอย่างไร?

ไทยลงทุนไม่น้อยถึง 6.2% ของ GDP เป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับมูลค่าการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งในออสเตรเลีย(5.8%) เบลเยี่ยม(5.8%) สหรัฐฯ(6.0%) และ สหราชอาณาจักร(6.2%) ขณะที่ค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) อยู่ที่ 5.0% โดยนอร์เวย์เป็นประเทศที่ลงทุนทางการศึกษาสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่ม อยู่ที่ 6.5% ของ GDP แต่ถ้าดูคุณภาพ พบว่าคะแนนเฉลี่ยผลประเมิน PISA ของประเทศกลุ่มโออีซีดี ด้านคณิตศาสตร์ 488 คะแนน วิทยาศาสตร์ 489 คะแนน และการอ่าน 489 คะแนน สูงกว่าคะแนน PISA ของไทยที่มีคะแนนคณิตศาสตร์ 419 คะแนน วิทยาศาสตร์ 426 คะแนน และการอ่าน 393 คะแนน ทั้งๆ ที่ไทยมีสัดส่วนการจัดสรรทรัพยากรลงทุนทางการศึกษาสูงกว่าของโออีซีดี

รีเทิร์นการลงทุนการศึกษาของไทยไม่น้อยหน้าชาติใด

ผลการศึกษาผลตอบแทนการลงทุนโดยใช้วิธี Cost-Benefit Analysis[3] จากกรณีศึกษาโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และมีสมมติฐานว่ากระแสรายได้ของผู้รับทุนคำนวณตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงเกษียณอายุ และเงินเดือนที่ได้กลุ่มวิชาชีพด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ในสาขาวิชาหลัก 10 อุตสาหกรรม S-Curve ที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ขณะที่ต้นทุนใช้ข้อมูลอ้างอิงจากค่าใช้จ่ายการให้ทุนทั้งส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำคือ งบกลางที่ใช้พัฒนาสถานศึกษา และค่าใช้จ่ายแปรผันที่มอบให้ต่อหน่วยผู้รับทุนหรือต่อสถานศึกษา

พบว่ารายได้โครงการมูลค่า 136,100 ล้านบาท คิดเป็นรายได้โครงการปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 28,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน(Internal Rate of Return: IRR) เท่ากับ 9.8% ใกล้เคียงกับงานศึกษาของไทยในอดีตที่ 7.5% - 9.5% (พลับพลึง, 2019) ซึ่งถือว่าไม่น้อยหน้าชาติใด โดยค่าเฉลี่ยของ OECD อยู่ที่ 17% โดยสูงสุดคืออิสราเอล (40%) รองลงมาคือ ตุรกี (36%)และไอร์แลนด์ (32%) ตามลำดับ

ภาพแสดงข้อมูลจากโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง
แสดงอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) ของกลุ่ม STEM เมื่อคำนวณจากรายได้โครงการฯ

159885227217

จะเห็นว่าการลงทุนในการศึกษาไทยให้ประโยชน์ทางการเงินในระดับน่าพอใจ แต่ยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการ รวมถึงโจทย์ท้าทายโดยเฉพาะปัญหาช่องว่างระหว่าง “โลกการศึกษา” และ “โลกการทำงาน” ที่กว้างมาก ซึ่งเป็นต้นทุนในอนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาขับเคลื่อนการศึกษาไทยโดยมียุทธศาสตร์ระดับมหภาคที่เน้นความคุ้มค่าทั้งในเชิงการเงินและเชิงคุณภาพ รวมถึงจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มเติมทักษะที่จะตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ เพื่อจะได้ก้าวข้ามการศึกษาแบบ “เสื้อโหล” มาสู่การเรียนรู้แบบ “เสื้อสั่งตัด” สักที

โดย...

ดร.เสาวณี จันทะพงษ์

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวชนาภา ตันติปุระ

นักศึกษา Department of Economics

London School of Economics and Political Science (LSE)

[บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]

[1] VUCA คือ สถานการณ์ที่เรียกว่า “VUCA” Volatility ความผันผวน, Uncertainty ความไม่แน่นอน, Complexity ความซับซ้อน และ ความไม่ชัดเจน Ambiguity

[2] Endogenous growth เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนนั้น นอกจากจะขึ้นการสะสมทุนทางกายภาพแล้ว ยังมีการพัฒนาด้านทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญ

[3] Cross-Benefit Analysis เป็นวิธีการหาต้นทุนและประโยชน์ทางสังคมโดยคิด