“สะพาน Honduras” เป็นครู

“สะพาน Honduras” เป็นครู

เสียงฟ้าผ่าดังขึ้นเป็นระยะ พร้อมกับสายฝนที่เทลงมาไม่หยุดยั้งอย่างไม่เคยหนักเช่นนี้มาก่อน ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

 ลมแรงพัดกระหน่ำต้นไม้ใหญ่น้อยจนหักระเนระนาดอย่างรุนแรง แต่ไม่ว่าภัยธรรมชาติครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดมันก็เหมือนกันทุกครั้งในเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือสะพาน Choluteca ยังมั่นคงไม่สะทกสะท้าน อย่างไรก็ดีชัยชนะครั้งนี้ไม่มีประโยชน์จนสะพานแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในประเทศHonduras กลายเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่กล่าวขวัญถึงกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

Honduras เป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในตอนกลางของอเมริกาใต้มีพื้นที่ 112,482 ตารางกิโลกเมตร(ไทยประมาณ 5 แสน ตร.กม.) มีประชากรประมาณเกือบ 10 ล้านคน พลเมืองส่วนใหญ่ยากจนเป็นเกษตรกรปลูกกาแฟ ผลไม้ อ้อย ความมั่งคั่งตกอยู่กับ10%ของพลเมืองที่อยู่ในเขตเมือง รายได้โดยเฉลี่ยต่อปีต่อคนประมาณ 2,800 เหรียญ(ไทย 7,607 เหรียญ)

สะพาน Choluteca(โชล-ลู-เต้ก-ก้า)นั้น เป็นสะพานแขวนเลียนแบบสะพานGolden Gate อันมีชื่อเสียงในเมือง San Francisco ซึ่งถือว่าล้ำหน้ามากเพราะสะพานที่สร้างในยุคเดียวกันนั้นเช่น สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพาน Sydney Harbour ฯลฯ ล้วนเป็นสะพานโครงสร้างเหล็ก

สะพานCholuteca ออกแบบโดยสถาปนิกและวิศวกรชั้นเลิศของโลกและสร้างโดยองค์กรวิศวกรของภาครัฐในสหรัฐดังที่มีชื่อเรียกว่า Unite

States Army Corps of Engineer (สร้างสารพัดสิ่งก่อสร้างในสหรัฐอเมริกาไม่ว่าไปที่ไหนก็จะเห็นป้ายว่าองค์กรนี้เป็นผู้สร้าง) สะพานCholuteca มีความยาว 300 เมตร สร้างขึ้นระหว่างค.ศ. 1935-1937

สะพานนี้มีความสำคัญเพราะช่วยให้ผู้คนสัญจรไปมาข้ามแม่น้ำชื่อเดียวกัน และยังเป็นชื่อของเมืองอีกด้วยสะพานCholuteca เป็นหน้าเป็นตาของHonduras มายาวนานและนำมาเป็นตราสัญลักษณ์ของประเทศอีกด้วย

มีการบูรณะสะพานCholuteca ครั้งใหญ่ในค.ศ. 1996 เพราะตระหนักดีว่ามีความเป็นไปได้สูงจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าจะเผชิญกับภัยธรรมชาติจากพายุเฮอริเคนที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะในปี1998 สะพานนี้ต้องต่อสู้กับพายุเฮอริเคนรุนแรงชื่อMitch และก็สามารถสู้ได้อย่างไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ก็กลายเป็นสะพานที่ไร้ประโยชน์ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำอย่างสิ้นเชิงจนแม่น้ำมิได้ไหลรอดสะพานอีกต่อไป

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้นักคิดนักเขียนในระดับโลกนำเอามาเปรียบเปรยได้อย่างดียิ่งกับเรื่องการศึกษา ธุรกิจ การดำเนินชีวิตครอบครัวเทคโนโลยี ฯลฯจนสะพาน Cholutechสร้างประโยชน์อีกครั้งที่มิได้มาจากหน้าที่ของการเป็นสะพาน

ถึงแม้จะได้ผู้ออกแบบและผู้ก่อสร้างในระดับแนวหน้าของโลกสร้างสะพานได้สวยงามและแข็งแรงเพียงใด แต่ก็กระทำอยู่บนสมมติฐานว่าสายน้ำจะไม่เปลี่ยนเส้นทาง ครั้นจะโทษคนเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องเพราะไม่มีใครสามารถจะเห็นได้ว่าในเวลาอีก 61 ปีข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้ มันเป็นอุทาหรณ์ชั้นดีว่าการมองสภาพแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการศึกษา ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของประเทศใดก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีระบบสร้างการเรียนรู้ที่เป็นเลิศแก่ทรัพยากรมนุษย์ของตนเองในปัจจุบัน(สะพาน) แต่หากไม่เหลือบมองการเปลี่ยนแปลงของโลก(สายน้ำ)ที่รวดเร็วและรุนแรงแล้ว ระบบการศึกษาที่ว่ายอดเยี่ยมนั้นก็จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง(สายน้ำเปลี่ยนเส้นทาง)ยิ่งถ้าเป็นสะพานไม้ที่ผุด้วยแล้ว แค่สายน้ำเดิมก็แทบจะข้ามไม่รอด หากไม่รีบออกแบบสะพานให้แข็งแรงขึ้นและพิจารณาสภาพแวดล้อมที่อาจเกิดลมแรงมีฝนจนทำให้ปริมาณน้ำเอ่อไหลอย่างรุนแรงแล้วก็จะเป็นสภาวการณ์ที่น่าสะพึงกลัวอย่างยิ่ง

ในด้านธุรกิจยิ่งเห็นชัด IBM ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในเรื่องเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในยุคทศวรรษ1980 เมื่อเกิดยุคคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กขึ้นสะพานเดิมทีมั่นใจว่า มั่นคงแล้วก็ย่ำแย่ปรับตัวไม่ทันเพราะคาดไม่ถึงว่าสิ่งแวดล้อมของสะพานจะเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วขนาดนั้น Microsoft เป็นยักษ์ใหญ่ขึ้นมาในยุคอินเตอร์เน็ตที่ต้นทุนในการกระจาย(Distribution Cost)เป็นศูนย์จนทำให้ทุกรูปแบบของมีเดียไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ ดนตรี วิดีโอ ฯลฯ ปั่นป่วนไปหมด

ในเรื่องครอบครัว ปู่ย่าตายายอาจเป็นผู้มีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูอบรมลูกเป็นเสมือน“สะพาน”ที่แข็งแรง และด้วยความจำเป็นของคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานจากต่างจังหวัดต้องฝากลูกไว้กับพ่อแม่ของตน ผู้ใหญ่เหล่านี้เติบโตและมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลา 30-40 ปีก่อนจึงใช้วิธีการเดิมในการเลี้ยงลูกมาใช้กับหลาน แต่ “แม่น้ำ” ได้เปลี่ยนเส้นทางเดินไปแล้ว ปัญหาเยาวชนจำนวนมากในปัจจุบันจึงมาจากการไม่สามารถสื่อสารกันได้ระหว่างปู่ย่าตายายและหลานจนเกิดปัญหาขึ้นมากมาย

ฟิล์มโกดักสมัยก่อนเป็นที่นิยมมากโดยใช้กับกล้องที่ต้องล้างฟิล์มและนำไปอัดปัจจุบันหาซื้อฟิล์มดังกล่าวได้ยากเพราะการเกิดขึ้นของกล้องดิจิตอล “สะพาน”ที่มั่นคงหากินมาเกือบ100ปี กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์เพราะสิ่งแวดล้อมทำให้“สายน้ำ”เปลี่ยนทิศทางไป

การยึดติดอยู่กับ“สะพาน”เดิมที่สร้างขึ้นโดยอยู่บนสมมติฐานว่า“สายน้ำ”ไม่เปลี่ยนทิศทางจึงเป็นความเสี่ยงโดยแท้

ข้อแนะนำในเรื่อง Agility หรือความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างง่ายและรวดเร็วของการบริหารธุรกิจ ของการดำเนินชีวิต ของวิธีคิด ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาไตร่ตรอง อย่างยิ่ง อย่าได้มั่นใจว่าสมมุติฐานเกี่ยวกับ “สะพาน” ที่ว่าสายน้ำจะไหลในทิศทางเดิมจะเป็นจริง เสมอไปดังเรื่องสะพานนี้ของHonduras

การปรับสร้างทักษะและความรู้ให้ตนเองอย่างสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิดเป็นสิ่งจำเป็น “สะพาน” เก่าที่เคยใช้มาแสนนานอาจสู้ภัยธรรมชาติที่ทำให้ถนนผ่านสะพานขาดหรือสายน้ำเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทางออกที่เหมาะสมคือความคล่องตัวในการปรับปรุงซ่อมแซมหรือแม้แต่สร้างสะพานใหม่

สะพานมันหยิ่งเพราะรู้ดีว่ามันสร้างประโยชน์มหาศาล แต่จะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อมันถ่อมตัวยอมรับการซ่อมแซมดูแลและการเฝ้าดูแลสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ