ปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน กับต้นทุนทางเศรษฐกิจ

ปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน กับต้นทุนทางเศรษฐกิจ

สำหรับแนวทางป้องกันปัญหา ความอบอุ่นจากครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญสุด !

จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในปี 2562 มีจำนวนเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ 20,842 คน ทั้งนี้หากเทียบกับ 5 ปีก่อน นับว่าดีขึ้นมาก ในปี 2557 มีเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ ถึง 36,467 คน เรียกว่าลดลงมา 40%

อย่างไรก็ตาม การมีเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ มากถึงสองหมื่นคน นับเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของสังคมไทย ทั้งตัวเยาวชนที่เสียโอกาสเล่าเรียนในวัยที่พึงหาความรู้ โตไปเมื่อไม่มีความรู้ก็ไม่สามารถหางานที่ดี มีรายได้สูง เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจยังสูญเสียแรงงานที่มีศักยภาพสูงหรือขาดการบ่มเพาะทักษะวิชาชีพในอนาคตไปด้วย นี่ยังไม่นับงบประมาณที่กรมพินิจฯ ต้องใช้ในการบริหารจัดการกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท

คำถามน่าสนใจคือ เราจะช่วยกันลดการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนได้อย่างไร

เมื่อไปดูสถิติพบว่าความผิดในคดีของเด็กและเยาวชนมาจาก 3 องค์ประกอบหลัก หนึ่ง สำคัญสุดคือครอบครัวและความอบอุ่นจากครอบครัว ในปี 2562 มากกว่า 60% ของผู้ทำผิดมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง สอง จากปัญหายาเสพติด มากกว่า 50% ของผู้ทำผิดเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด โทษยาเสพติดในกฎหมายไทยระบุไว้ค่อนข้างสูง สาม จากปัญหาการทำผิดซ้ำ โดยสัดส่วนเยาวชนที่ออกจากสถานพินิจฯ กระทำผิดซ้ำมากถึง 40% ซึ่งนับว่าสูงทีเดียว

ดังนั้น สำหรับแนวทางป้องกันปัญหา ความอบอุ่นจากครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญสุด หลายคนอาจสงสัยว่าฐานะครอบครัวสำคัญไหม จากการให้ข้อมูลของอธิบดีกรมพินิจฯ พบว่า ฐานะครอบครัวไม่ใช่ปัจจัยทางตรง แม้ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี แต่หากผู้ปกครองเลี้ยงดูด้วยความรัก เป็นที่พึ่งพิงให้เด็กได้ ฐานะก็ไม่ใช่ปัจจัยให้เด็กกระทำผิด อย่างไรก็ตาม ฐานะอาจเป็นปัจจัยทางอ้อม เช่น หากครอบครัวยากจน พ่อแม่ต้องทำงานจนไม่มีเวลาดูแล ก็เพิ่มความเสี่ยงให้เด็กทำผิดได้

สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการก่ออาชญากรรมของเด็กและเยาวชนไทย” โดยธีรวรรณ เอกรุณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่า ปัจจัยที่ช่วยให้อัตราการก่ออาชญากรรมเด็กและเยาวชนลดลง คือ ความมั่นคงทางด้านรายได้ของครอบครัว และการที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดี

ดังนั้นในฐานะรัฐบาลและภาคประชาสังคม ถ้ามีกลไกช่วยให้ทราบได้ว่าครอบครัวใดมีฐานะยากจน มีความเสี่ยงที่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กตามมาตรฐานหรือตามสิทธิที่ควรได้รับ ภาครัฐและประชาสังคมควรเข้าไปช่วยดูแล เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนและหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ก็มีบทบาทช่วยป้องกันปัญหาได้ ดังข้อมูลจากงานวิจัยของนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ ที่เสนอต่อวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ที่พบว่า โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถร่วมมือกันเพื่อลดความเสี่ยงในการทำความผิดของเด็กและเยาวชน โดยร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมยามว่างสำหรับนักเรียนหลังเลิกเรียนและเสาร์อาทิตย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการไปเที่ยวเตร่ เช่น จัดให้มีวงดนตรีสากลและวงดนตรีลูกทุ่ง โดยสนับสนุนงบประมาณ เครื่องแต่งกาย และสถานที่ฝึกซ้อม

ขณะเมื่อเด็กทำผิดและเข้าสู่สถานพินิจฯ รัฐควรมีมาตรการฟื้นฟูทั้งระหว่างอยู่ในสถานพินิจฯ และติดตามหลังพ้นโทษ เมื่ออยู่ในสถานพินิจฯ ควรได้รับการศึกษา ฝึกอาชีพ เพื่อจะได้มีอาชีพเมื่อพ้นโทษไป ขณะเดียวกันเมื่อพ้นโทษ รัฐควรติดตามว่าเยาวชนเหล่านั้นมีงานทำหรือไม่ สถานภาพครอบครัวเป็นอย่างไร เพราะหากไม่มีความอบอุ่นจากครอบครัว ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำผิดซ้ำ กลับเข้าสู่สถานพินิจฯ หรือทัณฑสถานอีก

ในประเด็นการทำผิดซ้ำ งานวิจัยพบว่า ยิ่งคนถูกควบคุมในสถานที่ควบคุมนานเท่าไร ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้บุคคลนั้นกระทำผิดซ้ำมากขึ้น นอกจากนี้การที่ผู้กระทำความผิดเล็กน้อยถูกควบคุมตัวกับผู้กระทำความผิดรุนแรง มีแนวโน้มทำให้ผู้ทำความผิดเล็กน้อยเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้กระทำความผิดรุนแรงมากขึ้น

สุดท้าย ในแง่ประชาชน การเข้าใจสาเหตุที่เด็กและเยาวชนกระทำผิดข้างต้นจะช่วยให้เรามีส่วนลดปัญหาเหล่านี้ในสังคมได้ การคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นอกเห็นใจและมีเมตตา มองเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ต้องการความรัก ต้องการโอกาสเหมือนลูกเราทุกคน จะช่วยให้เด็กเสี่ยงทำผิดน้อยลง ช่วยลดทั้งการกระทำผิดครั้งแรกและการกระทำผิดซ้ำ ช่วยสร้างเยาวชนและทรัพยากรมนุษย์ที่ดีให้สังคมไทย

สมควรที่เราทุกคนจะช่วยกันลดปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนไทยครับ