ฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร

ฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร

หากเป็นละคร ฉากที่ผ่านมาของปีนี้เป็นเสมือนปีที่หายไป หรือ Lost Year

สำหรับหลายๆคน ที่เบาหน่อยก็เพียงแต่รู้สึกไม่ได้ทำอะไรเพิ่มขึ้นมากนักเหมือนที่เคยทำมาในปีอื่นๆ ไปจนถึงที่สาหัสคือ งานหายไป หรือ Job Loss ซึ่งหมายถึงรายได้ขาดหายไป และไม่มีเงินใช้จ่าย 

นอกจากการใช้ชีวิตของทุกคนในโลกที่มีการต่อต่อพบปะกับผู้คนในสังคมต้องเปลี่ยนแปลงไปอันสืบเนื่องมาจากโควิด -19 แล้ว การปรับเปลี่ยนทัศนคติ การเรียนรู้ การทำงาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ในฉากต่อไป นโยบาย รูปแบบ และการจัดการธุรกิจ และการบริหารจัดการประเทศ ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย 

โควิด-19 มาพร้อมกับกวาดตำแหน่งงานที่มีอยู่ให้หายไปมากมาย เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว World Economic Forum รายงานว่า จากการศึกษาของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยคอร์แนลร่วมกับกลุ่มแนวร่วมเพื่ออเมริกาที่รุ่งเรือง คาดการณ์ว่าตำแหน่งงานในสหรัฐอเมริกาจะหายไปถึง 37 ล้านตำแหน่ง เนื่องมาจากผลพวงของโควิดต่อเศรษฐกิจ 

ในประเทศกลุ่ม OECD มีการคาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานของประเทศในกลุ่ม OECD จะเพิ่มจาก 5.3% ณ สิ้นปี 2562 เป็น 9.4% ในปีนี้ และหากมีการระบาดระลอกสองในปลายปี การว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.6% ค่ะ และจากการศึกษาพบว่า ผู้อยู่ในกลุ่มฐานะยากจน และคนทำงานเพศหญิงได้รับผลกระทบมากกว่า 

ในเยอรมนี สหภาพการค้า IG Metall ซึ่งเป็นตัวแทนของลูกจ้าง 2.3 ล้านคน ได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ให้ ภาคธุรกิจ ให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด 19 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากคาดว่าตำแหน่งงานประมาณ 0.3 ล้านตำแหน่งมีโอกาสหายไป 

การให้พนักงานทำงานคนละเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยทำให้ธุรกิจไม่ต้องปรับลดจำนวนคนไปตามความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง พูดง่ายๆก็คือ แบ่งงานเฉลี่ยกันทำ แต่ละคนจะมีรายได้ลดลง ซึ่งก็ยังดีกว่าบางคนมีรายได้ แต่บางคนไม่มีรายได้เลยค่ะ 

เมื่อพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และทุกคนไม่เคยพบมาเลยในช่วงชีวิตนี้ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ นโยบายต่างๆของรัฐและโมเดลธุรกิจต่างๆของเอกชน ก็ต้องปรับเปลี่ยนไป เรียกว่าต้องกลับมาลองผิดลองถูก กลับมาคิดต่าง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจและธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า 

เรามีช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงจนเป็นอันตราย เช่นช่วงหลังสงครามโลก ช่วงน้ำมันราคาพุ่งสูงในทศวรรษที่ 1970 และเราก็มีช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นเวลานาน เช่นที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนอาจจะเกิดอันตราย (แบบที่เคยเกิดที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วง “ทศวรรษแห่งการสูญหาย (Lost Decade)” ซึ่งเศรษฐกิจไม่เติบโต เงินเฟ้อต่ำใกล้ศูนย์จนถึงติดลบ) 

หลังจากวิกฤติโรคระบาดที่มาจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกปักหัวลง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆจึงต้องปรับตัว ปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยกันใหม่ค่ะ โดยล่าสุดประธานของธนาคารสหรัฐ หรือ เฟด คือนายเจอโรม พาวเวล ได้ออกมาประกาศว่า เฟดจะปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ย ไปเป็นการใช้ เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยแทนที่จะเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อ 

เมื่อโจทย์เปลี่ยน การดำเนินการที่เกี่ยวข้องก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย จะยึดติดกับของเดิมๆ วิธีคิดเดิมๆไม่ได้อีกต่อไป 

มาถึงของไทยบ้าง ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ เลขาธิการ สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กล่าวไว้ว่า จากการสำรวจพบว่าทักษะสำคัญที่ทำให้คนสามารถรักษางานเอาไว้ได้มี 4 ทักษะ คือ ทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving Skill) ทักษะการบริหารโครงการ (Project Management Skill) ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skill) และความเป็นผู้นำ (Leadership) 

หากท่านใดเริ่มรู้สึกว่างานของเราไม่มั่นคง พยายามเสริมทักษะทั้งสี่อย่างนี้ และพยายามแสดงทักษะเหล่านี้ให้ผู้อื่นเห็นด้วยนะคะ 

นอกจากนี้ แผนงานของ สอวช. เพื่อเตรียมตอบโจทย์วิกฤติของประเทศไทยก็น่าสนใจมากค่ะ ขออนุญาตนำมาสรุปย่อดังนี้ 

ระยะที่ 1 ระยะพยายามควบคุมการแพร่ระบาด (Restriction) เดือนที่ 1-6 (ผ่านไปแล้ว) จัดทำโปรแกรมแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เพื่อคาดการณ์ปัญหา จัดการกับภาวะวิกฤติได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายและบรรเทาความเสียหายระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความรู้กับประชาชน มีมาตรการทางการแพทย์ สาธารณสุข และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ทั้งระดับอุตสาหกรรมและระดับพื้นที่ 

ระยะที่ 2 ระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม (Reopening) เดือนที่ 7-12 ต้องช่วยคนให้มีงานทำ โดยการ Reskill/Upskill ที่มุ่งให้สามารถนำไปต่อยอดใช้จริงได้ สำหรับคนตกงาน คนที่เสี่ยงจะตกงาน และนักศึกษาจบใหม่ และเร่งช่วย SME กับผู้ประกอบการ จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการอย่างตรงจุด ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาด การพัฒนาเชิงพื้นที่ 

ระยะที่ 3 ระยะการฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย (Recovery) เดือนที่ 13-18 จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยว การผลิต SMEs บริการภาครัฐ การศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจฐานราก เกษตรต้นน้ำ อาหาร รวมถึงศิลปวัฒนธรรมและเกษตรสร้างสรรค์ โดยจะช่วยฟื้นฟูใน 7 ด้านคือ ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ปรับเปลี่ยนทักษะ ยกระดับทักษะ พัฒนาทุนมนุษย์ในสาขาต่างๆ  เปลี่ยนผ่านธุรกิจและกิจกรรมสู่ดิจิทัล เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และตอบโจทย์พฤติกรรมใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อสุขอนามัยและความปลอดภัย  บูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ  ลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์มูลค่า ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำนวัตกรรมสู่การพาณิชย์ ผู้ประกอบการใหม่ นวัตกรรมสังคมและชุมชน  สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และภูมิคุ้มกันสู่ความยั่งยืน  ปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 

ระยะที่ 4 คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม (Restructuring) เดือนที่ 19 ถึงอนาคต 5 ปีข้างหน้า ไปสู่เกษตรแม่นยำ หรือเกษตรมูลค่าสูง ใช้นวัตกรรมผลิตพืชแนวใหม่ สร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านอาหารโดยใช้นวัติกรรมและเทคโนโลยี สร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวบนฐานความแข็งแกร่งทางสาธารณสุขและวัฒนธรรม ผลักดันให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ สู่ภาคการผลิตและบริการ ดึงพลังนักศึกษาไปทำงานร่วมกับชุมชน ส่งเสริมให้เกิด 1 บริษัท 1 อำเภอ เกิดแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์สัญชาติไทย พัฒนาการศึกษาออนไลน์และการศึกษาผสม โครงการผลิตยาชีววัตถุ พัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้า ปลดล็อคกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค มีกลไกการดำเนินงานพิเศษ (Innovation Sandbox) เป็นต้น

ฉากต่อไปจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเราทุกคนที่จะเขียนบทให้ประเทศของเราค่ะ