ใช้ หรือ เก็บ คนไทยมีนิสัยและทักษะทางการเงินอย่างไร?

ใช้ หรือ เก็บ คนไทยมีนิสัยและทักษะทางการเงินอย่างไร?

เราต่างรู้ว่าการคิดวางแผนรับมือกับอนาคตและการเก็บออมเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุ

 การเก็บออมยิ่งมีความจำเป็น และตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ยิ่งทำให้เราเห็นความสำคัญของการเก็บออมมากยิ่งขึ้น แต่การเห็นความสำคัญของการเก็บออม อาจยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการออมของคนไทย

การสำรวจการติดตามระดับความรู้และการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในปี 2561จำนวน 11,129 คนทั่วประเทศ ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีคนไทยเพียง 13.1% ที่มีเงินออมสำหรับใช้จ่ายได้มากกว่า 1 ปี สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือเมื่อต้องหยุดงานกะทันหัน และมีคนไทย 23.8% ที่บอกว่าเงินออมที่มีอยู่สามารถใช้จ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน

ดังนั้น จึงควรต้องทบทวนว่าที่ผ่านมาคนไทยมีพฤติกรรมอย่างไร ระหว่างการใช้เงินและเก็บออมเงินมักเลือกอะไรก่อน? และเมื่อมีเงินต้องรีบใช้เลยหรือไม่? ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการมี “ทักษะทางการเงิน” ที่ดีด้วย

“ทักษะทางการเงิน หรือ Financial Literacy” เป็นความรู้หรือความเชี่ยวชาญที่ไม่สามารถวัดและประเมินผลได้โดยตรง ต้องอาศัยการวัดจากปัจจัยต่างๆ ที่แสดงคุณลักษณะของผู้มีทักษะทางการเงิน ซึ่ง OECD ได้พัฒนากรอบนิยาม แนวทางการประเมิน รวมทั้งออกแบบสอบถามที่ใช้ในการประเมินทักษะทางการเงิน ซึ่งประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแบบการสำรวจการติดตามระดับความรู้และการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในปี 2561และผลการคำนวณคะแนนทักษะทางการเงินโดยผู้เขียนและทีมวิจัย พบว่าคะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินของคนไทยอยู่ที่ 62.8% ใกล้เคียงกับคะแนนทักษะทางการเงินของกลุ่มประเทศ OECD ในปี 2558 (62.9%)

แม้ว่าคะแนนทักษะทางการเงินของไทยดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ OECD แต่เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบซึ่งคะแนนทักษะทางการเงินมาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “ความรู้ทางการเงิน” “พฤติกรรมทางการเงิน” และ “ทัศนคติทางการเงิน” พบว่า

ความรู้ทางการเงิน เป็นด้านที่คนไทยอ่อนที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.7% ทั้งนี้ ความรู้ทางการเงินคือทักษะในการคิดคำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยทบต้น ความรู้เรื่องเงินเฟ้อ การกระจายความเสี่ยง และผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจด้านการเงินของแต่ละคน

ด้าน “พฤติกรรมทางการเงิน” คือพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออม รูปแบบการเก็บออม การแก้ปัญหาทางการเงิน การไตร่ตรองก่อนซื้อ การชำระค่าใช้จ่ายตรงเวลา การเปรียบเทียบศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ และการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาวผลสำรวจพบว่า คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 59.6%

และ “ทัศนคติทางการเงิน” คือความคิดเห็นด้านการเงิน เช่น มีความสุขกับการใช้เงินมากกว่าการออม มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้และไม่คิดวางแผนเพื่ออนาคต และมีเงินต้องรีบใช้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าคะแนนทัศนคติทางการเงินของคนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 77.3% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงที่สุด

แม้ว่าคะแนนทักษะทางการเงินของคนไทยจะใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศ OECD แต่คะแนนความรู้ทางเงินของคนไทยยังต่ำกว่าคะแนนของกลุ่มประเทศ OECD มาก 56.7% เทียบกับ 65.7%

ผลสำรวจนี้พอจะสรุปได้ว่า แม้จะมีทัศนคติทางการเงินที่ดี หรือมีพฤติกรรมทางการเงินเช่นการเก็บออม แต่หากขาดความรู้ทางการเงิน เช่น การคำนวณดอกเบี้ยทบต้น ความรู้เรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินแตกต่างจากผลสำรวจในกลุ่มประเทศ OECD ที่คะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินโดยรวมแม้ใกล้เคียงกับคนไทย คืออยู่ที่ 62.9 แต่คะแนนความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติทางการเงิน กลับมีค่าเฉลี่ยที่ไม่ต่างกันมากนัก โดยอยู่ที่ 65.7, 60.0 และ 66.0 ตามลำดับ

เพื่อส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินในระดับบุคคลและครัวเรือนได้อย่างตรงจุดจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน วัดความรู้และพฤติกรรมทางด้านการเงินของคนไทยเพื่อกำหนดกลยุทธ์ ส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ ปรับทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาเก็บออมมากขึ้น

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการส่งเสริมการออมและการให้ความรู้ทางการเงินควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นช่วงวัยที่สามารถปลูกฝังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายกว่าช่วงวัยอื่น และการมีวินัยในการออมและการใช้จ่ายเงินจะติดตัวเด็กไปจนโต

สำหรับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม การบังคับออม (force saving) อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ประเทศไทยไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอในยามชรา และต้องพึ่งพิงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐเพียงด้านเดียว

โดย...

จิราภรณ์ แผลงประพันธ์