เด็กในวันนี้กำลังตกเป็นเหยื่อของ COVID-19

เด็กในวันนี้กำลังตกเป็นเหยื่อของ COVID-19

ทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเรามักเห็นการพูดถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

การค้าการส่งออก การท่องเที่ยวที่ซบเซา คนทำงานจำนวนไม่น้อยตกงาน หากแต่กลุ่มที่ยังมีคนพูดถึงน้อย คือกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและมีความสำคัญสูงมากต่ออนาคตของทุกประเทศ

เด็กในวันนี้กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมากจนหลายคนคาดไม่ถึง ทั้งผลกระทบทางตรงที่เกิดจากการที่เด็กติดเชื้อไวรัสจนป่วยไข้ จนถึงผลกระทบทางอ้อมจากผลด้านเศรษฐกิจและสังคม และจากมาตรการของรัฐในการหยุดการแพร่เชื้อ โดยผลกระทบที่มีต่อเด็กในวันนี้อาจจะส่งผลระยะยาวไปจนตลอดชีวิตของพวกเขาในอนาคต

หลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินมาตรการป้องกันเชื้อโควิดโดยการปิดเมือง ปิดประเทศ เว้นระยะทางสังคม จึงส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปด้วย กลุ่มคนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ (informal sector) จ้างงานแบบชั่วคราว และไม่มีระบบประกันทางสังคม จึงได้รับผลกระทบอย่างสูง ส่งผลต่อเนื่องต่อลูกๆ ที่ยังเป็นเด็กที่อยู่ในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาก โดยคาดการณ์ว่าจะมีเด็กทั่วโลกประมาณ 42-66 ล้านคนต้องตกลงไปในชั้นความยากจนสุดขั้ว (extreme poverty) อันเป็นผลจากวิกฤติในปีนี้ จากเดิมที่มีเด็กยากจนในชั้นความยากจนสุดขั้วอยู่แล้ว 386 ล้านคนในปี 2019

ผลกระทบของมาตรการหยุดการแพร่เชื้อที่ทำให้ทั่วโลกมีมาตรการการปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนรวม 188 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเด็ก 1,500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งทำให้กระบวนการเรียนรู้และสะสมทุนมนุษย์ของเด็กในรุ่นนี้ได้รับผลกระทบ

โดยหลายประเทศได้มีการให้มีการเล่าเรียนชดเชยผ่านระบบดิจิทัลออนไลน์ แต่ก็ทำให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของเด็กทั่วโลกต้องตกหล่นจากการศึกษาออกไป ไม่สามารถเรียนรู้ออนไลน์นี้ได้เพราะครอบครัวมีฐานะที่ขาดความพร้อม ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องการเรียนทางไกลผ่านระบบออนไลน์ ขาดการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีราคาค่าใช้จ่ายสูงกว่าฐานะของครอบครัวจะจ่ายได้ และผู้ปกครองก็ขาดความรู้ขาดทักษะที่จำเป็นทำให้ไม่สามารถช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ สอนการบ้าน หรือการสร้างพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่ดีพอจากที่บ้านได้

นอกจากนี้ การหยุดการเรียนการสอนไปจากการปิดโรงเรียน ก็ส่งผลให้เด็กประมาณ 368.5 ล้านคนทั่วโลกที่พึ่งพาอาหารกลางวันจากโรงเรียน ขาดการเข้าถึงอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และพัฒนาการของเด็กต่อไปในอนาคต

ในกรณีของประเทศไทยก็เช่นกัน การปิดโรงเรียนทำให้เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เสียโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ครอบครัวยากจน การปิดโรงเรียนอาจเกิดผลกระทบต่อเนื่องกระทั่งทำให้นักเรียนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตเด็กในระยะยาว นอกจากนี้แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนทางไกลยังเพิ่มความเสี่ยงในการเปิดรับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอีกด้วย หากผู้ปกครองไม่ทันตระหนักรู้และขาดทักษะหรือตั้งค่าโปรแกรมในการจัดการไม่ให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

มาตรการล็อกดาวน์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการหยุดเชื้อไม่ให้แพร่กระจายนั้นทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของเด็กในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับความเสียหายจากความรุนแรงในครอบครัวและการถูกล่วงละเมิด เด็กที่อยู่ในสภาพความขัดแย้งสภาพที่ไม่ถูกสุขอนามัยและแออัด เช่น เด็กกลุ่มเปราะบาง ผู้ลี้ภัยก็มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยส่วนตัวเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอย่างละเอียดอ่อน คำนึงถึงคลัสเตอร์ของกลุ่มคนเสี่ยงต่างๆ รวมถึงกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบาง โดยนโยบายสำคัญที่หลายฝ่ายรวมถึงสหประชาชาติได้แนะนำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นในด้านเด็กตอนนี้คือ การจำเป็นต้องปรับสมดุลระหว่างการใช้มาตรการกำหนดระยะห่างทางสังคมและการล็อกดาวน์เด็กในประเทศ กับการขยายโครงการคุ้มครองทางสังคมให้เข้าถึงกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุด รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของบริการที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา บริการโปรแกรม โภชนาการ การฉีดวัคซีน และการดูแลมารดาและทารกแรกเกิด และโครงการคุ้มครองเด็กในชุมชน

นอกจากนี้ ภาครัฐควรให้การสนับสนุนแก่ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในยุคโควิด รวมถึงแนวทางในการพูดคุยเกี่ยวกับการระบาดของโรคนี้กับเด็กวิธีจัดการสุขภาพจิตของตนเองและสุขภาพจิตของบุตรหลานและเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของบุตรหลาน

นโยบายดังกล่าวควรจะต้องมีการคุ้มครอง โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่เปราะบางของประเทศ รวมถึงเด็กในครอบครัวที่ยากจน เด็กที่ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อย ชาวสลัม เด็กที่มีความพิการ เด็กเร่ร่อน รวมไปถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น ซึ่งทำให้หลักการทางนโยบายที่กล่าวว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปรากฏเป็นจริงท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติครั้งใหญ่ที่เป็นแบบทดสอบที่สำคัญสำหรับภาครัฐและสังคมไทยโดยรวมในครั้งนี้

โดย...

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/