กินจนเกลี้ยง 2.0

กินจนเกลี้ยง 2.0

เมื่อปี 2009 ผมได้รับเชิญไปเยือนเมืองจีน และนักธุรกิจท้องถิ่นให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง

วันแรก อาหารมื้อกลางวันปริมาณล้นหลาม รับประทานผ่านไปครึ่งทาง ก็อิ่มแปร้แล้ว อาหารจานที่เหลือที่ทยอยนำมาเสริฟ เราต้องพยายามทานกัน จานละคำสองคำ ด้วยความเกรงใจเจ้าภาพจริงๆ

 มื้อเย็นวันนั้น ไม่ต่างกันครับ อาหารเหลือเฟือ แต่เจ้าภาพก็ยิ้มแย้มแจ่มใส และบอกว่าอาหารที่เหลือมากมาย ไม่ต้องกังวลนะ มาเมืองจีนก็ต้อนรับกันอย่างนี้

 วันรุ่งขึ้น เหตุการณ์เหมือนเดิม แต่พอวันสุดท้าย หลังจากอาหารมื้อกลางวัน ที่หนักอึ้งและเหลือเฟือ ผ่านไปแล้ว เราก็บอกเจ้าภาพว่า เย็นนี้ขออนุญาตไม่รบกวน ขอไปหาอาหารทานกันเอง แบบง่ายๆนะครับ

 เย็นวันนั้นเราไปฟู้ดคอร์ต สั่งก๋วยเตี๋ยวมาทานคนละชาม และของหวานหนึ่งถ้วย รู้สึกมีความสุขมากๆกับอาหารธรรมดา ที่ไม่ใช่อาหารภัตตาคาร ซึ่งมากมายหนักอึ้งเป็นสิบๆชนิด

 ผมได้อ่านข้อมูล และทำให้ทราบว่าวัฒนธรรมการทานอาหารของจีน ถ้าต้อนรับแขก ก็ต้องสั่งอาหารให้เหลือเข้าไว้ จึงจะถือว่าสุภาพและถูกต้องเหมาะสม นั่นเป็นการให้เกียรติแขก ถ้าอาหารที่สั่งมา เกิดหมดเกลี้ยงจานจะถือว่าไม่สุภาพ

 การสั่งอาหารให้เพียงพอ ก็ดีนะครับ แต่ถ้าสั่งเหลือมากมาย จนเกือบจะไม่ได้แตะต้องอาหารจานท้ายๆเลย ก็น่าเสียดายครับ เพราะมันสิ้นเปลืองมากไปหน่อย แม้ไม่ถือว่าสิ้นเปลืองเงินเพราะว่ามีเงินมากพอ แต่ก็เป็นการ สิ้นเปลืองทรัพยากรอาหารของสังคม

 อีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น ในปี 2012 สี จิ้นผิง ได้ประกาศต่อต้านคอรัปชั่น และหนึ่งในมาตรการที่ตามมา ก็คือการสั่งห้ามข้าราชการกินเลี้ยงหรูหรา มีการรณรงค์ที่เรียกว่า กินจนเกลี้ยง หรือ “Clean Plate Campaign” คือไม่เลี้ยงกันจนเหลือเฟือ ซึ่งมาตรการนั้น ข้าราชการเกรงกลัวและทำให้ธุรกิจของภัตตาคารต่างๆ ได้รับผลกระทบ ยอดขายลดลงอย่างมาก

 วันเวลาผ่านไป 8 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง สี จิ้นผิง กลับมาอีกครั้งเรื่องอาหารการกิน ครั้งที่แล้ว กินจนเกลี้ยง 1.0” มุ่งเป้าไปที่ข้าราชการ แต่คราวนี้ กินจนเกลี้ยง 2.0” เขาออกมาแนะนำว่า คนจีนทั้งประเทศควรทานอาหารแต่พอประมาณ และทานให้เกลี้ยงจานด้วย อย่าเหลือเฟือจนต้องทิ้งอาหารมากมาย อย่างที่เคยเป็นมา

 เพราะว่าโควิด-19 และ ภัยธรรมชาติ ทำให้อุปทานอาหารของจีนได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นการกิน ก็ควรจะต้องเปลี่ยนไป เพื่อช่วยกันดูแลความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

 เป็นการเริ่มรณรงค์ กินจนเกลี้ยง 2.0” ครับ และในเมืองจีน เมื่อผู้นำพูดเช่นนี้ ประเดี๋ยวรัฐก็จะตามมาด้วยกฎกติกาต่างๆ ที่จะกำกับพฤติกรรมของประชาชนในเรื่องการทานอาหาร ให้เป็นไปตามนั้น

 คุณผู้อ่านครับ ที่เมืองจีนในขณะนี้ เรื่องนี้กำลังเป็นกระแสคึกคักทีเดียว “กินจนเกลี้ยง 2.0” เริ่มสัมผัสได้แล้ว เช่น สมาคมภัตตาคารแห่งเมืองอู่ฮั่น(เมืองที่โควิด-19 เริ่มระบาดนั่นแหละ) ได้ออก ระบบ N-1” คือ คำนวณด้วย จำนวนลูกค้าลบหนึ่ง เช่นถ้าลูกค้าเข้ามา 10 คน ก็จะสั่งอาหารได้ไม่เกิน 9 จาน เป็นต้น

 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวิจารณ์กันทางโซเชี่ยล พอสมควรเลยครับ บางคนประชดว่า ถ้าผมเข้าไปทานคนเดียว N-1 ก็เท่ากับ 0 แปลว่าผมสั่งอะไรมาทานไม่ได้เลย ใช่ไหม

 นักวิชาการบางคนก็วิจารณ์ว่า สี จิ้นผิง อาจจะยิ่งใหญ่ และโดยทั่วไปก็ชี้แนะหรือสั่งอะไรๆก็ได้ แต่ครั้งนี้ถือว่าเขา เสี่ยง พอสมควร ที่เข้ามายุ่งกับเรื่องของอาหารการกินของประชาชน เพราะคนจีนอาจไม่พอใจที่เห็นผู้นำทางการเมือง เข้ามาวุ่นวายจนกระทั่ง ถึงพฤติกรรมการกินของพวกเขาแบบนี้

 ก็อย่างว่าแหละครับ ประเพณี เป็นเรื่องที่สืบทอดกันมายาวนาน และเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก แต่ตรงนี้ก็ต้องค่อยๆติดตามกันต่อไป เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ประเพณีหลายอย่างมันก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า สี จิ้นผิง น่าจะทำได้สำเร็จไม่ยาก

 การบริโภคอาหารแบบทิ้งขว้างนั้น คนไทยเราและคนเกือบทุกประเทศ (ที่ไม่ได้ยากจนข้นแค้นและขาดแคลนอาหารอย่างหนัก) ก็ทำกันบ้างไม่มากก็น้อย เพราะแค่ข้าวหรืออาหารที่เหลือติดก้นจาน เมื่อรวมของทุกคนและทุกมื้อเข้าด้วยกันแล้ว ก็มากเกินกว่าเราคาดคิด

 ที่เมืองจีน WWF มีสถิติว่า เมื่อปี 2015 ประเทศจีนสูญเสียอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์ มากถึง 17-18 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอที่จะเลี้ยงคนได้ ถึงปีละ 30-50 ล้านคน เลยทีเดียว

 ประเทศไทย ก็มีการพูดเรื่องนี้พอสมควร โดยการสูญเสียอาหารเกิดได้สองรูปแบบ คือ สูญเสียระหว่างกระบวนการผลิต เช่นกระเทาะเปลือกถั่ว แล้วเนื้อถั่วหล่นปนเปไปกับเปลือก อีกแบบคือ สูญเสียหลังจากปรุงเป็นอาหารแล้ว แต่กลับกินทิ้งกินขว้าง กลายเป็นขยะอาหาร และเป็นภาระในการกำจัด

 เราบอกว่า เราเป็นครัวของโลก ซึ่งก็น่าดีใจและถือเป็นบุญของคนไทย ที่เราได้รับพรมาด้วยอาหารมากมายหลากหลายชนิด แต่การที่มีมาก ก็ไม่ควรจะแปลว่าเรามีสิทธิ์กินทิ้งกินขว้าง เพราะการใช้ทรัพยากร ไม่ว่ามีมากมีน้อย ควรต้องใช้อย่างระมัดระวัง

 แต่ก็คงอีกนานนะครับ กว่าที่ ผู้นำไทย จะมีเวลามาแนะนำ หรือขับเคลื่อนเรื่องพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เพราะเรื่องอย่างนี้ ยังไม่อยู่ในระดับความสำคัญต้นๆของประเทศ

 ก็ระดับ วาระแห่งชาติที่ได้ประกาศไปแล้วหลายเรื่อง บางอย่างยังคืบหน้าไปน้อยมาก เช่นการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น ดังนั้นเรื่องอาหารก็ปล่อยให้ คุณสี จิ้นผิง เขาว่าไปก่อนก็แล้วกัน

 ไทยแลนด์ของเรา แค่ปัญหาในสภาและนอกสภา ที่รุมเร้าอยู่เวลานี้ ลุงตู่ ก็น่าจะปวดเศียรเวียนเกล้ามากอยู่แล้ว อย่างเช่นเรื่องบอสกับเฟอรารี่ แค่เรื่องเดียว ก็เล่นเอาทั้งสถาบันตำรวจและอัยการ หนาวเหน็บสั่นคลอนไปตามๆกัน

 ผมก็ไม่ทราบหรอกนะว่า ปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น มันเป็นผลมาจากการที่เราเป็นประชาธิปไตย หรือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย หรือว่าจากเหตุอันใด...

 ใครรู้ช่วยตอบที