ความยุติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมาย

ความยุติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมาย

ในช่วง 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานของการบังคับใช้กฎหมายระหว่างคนจนและคนรวย

ถึงกับมีการใช้คำว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ซึ่งผู้คนในสังคมต่างก็พยายามหาคำตอบกับคำกล่าว ซึ่งฟังดูแล้วทำให้ภาพรวมของสังคมมีความรู้สึกหดหู่เป็นอย่างยิ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื่องความยุติธรรมที่สังคมถามหาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในระดับบุคคล หรือในระดับสังคม

อย่างไรก็ตาม คำถามว่า “ความยุติธรรมคืออะไร” ซึ่งความจริงการถกเถียงเรื่องความยุติธรรมถือเป็นหัวใจของปรัชญาตะวันตกมานับพันๆ ปี ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณถือเป็นแนวคิดหรือหลักอุดคติอันหนึ่ง หรือบ้างก็ถือว่าเป็นหลักคุณธรรมสูงสุดในทางศีลธรรมของมนุษยชาติ เป็นเป้าหมายอุดมคติของกฎหมาย หรือเป็นเสมือนชีวิตของกฎหมาย

น่าประหลาดใจคำว่า “ความยุติธรรม” นั้นเป็นคำที่ให้นิยามยากที่สุดคำหนึ่งในทุกภาษา ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์มีการถกเถียงเรื่องความยุติธรรมกันอยู่เรื่อยมา เนื่องจากถ้อยคำนี้หาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยาก แม้จะมีความพยายามในการค้นหาความหมายมาหลายชั่วอายุคน ก็ยังหาความหมายที่ยอมรับกันในระหว่างมวลมนุษยชาติไม่ได้

เพลโต นักปรัชญากรีก ได้เริ่มหันมาพิจารณาแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นหลักการทางจริยธรรมสำหรับการกระทำของมนุษย์ หรือคุณธรรมโดยเฉพาะของมนุษย์ เพลโตได้ให้คำนิยามความยุติธรรมว่า หมายถึง การทำกรรมดี หรือการทำสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อปรับหลักนี้เข้ากับปัจเจกบุคคล คำว่าความยุติธรรมของเพลโตจึงหมายถึงการที่แต่ละคนกระทำสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

ในสายตาของเพลโต ความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม และถือเป็นคุณธรรมสำคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรมอื่นใด และโดยทั่วไปแล้วถือว่าคำตอบเกี่ยวกับความยุติธรรมถูกค้นพบได้ด้วยอาศัยปัญญา หรือการไตร่ตรองเชิงปัญญาอย่างลึกซึ้ง กล่าวในแง่นี้แล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะค้นพบได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผลทางตรรกะ

การพิจารณาว่าอะไรเป็นกรรมดีหรืออะไรคือการกระทำที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายหรือแสดงออกด้วยคำพูด มีเพียงเฉพาะผู้เป็นปราชญ์หรือชนชั้นราชาปราชญ์เท่านั้น ที่จะสามารถให้คำตอบดังกล่าวได้โดยไม่ต้องพึ่งพากฎหมายลายลักษณ์อักษรใดๆ

นอกจาก มหาปราชญ์ยุคโบราณอย่างเพลโตที่พูดถึงความยุติธรรมแล้วยังมีนักปรัชญายุคปัจจุบันที่พูดถึงความยุติธรรมไว้อย่างน่าสนใจ คือ จอห์น รอลส์ นักปรัชญาชาวอเมริกัน ซึ่งตามทัศนะของจอห์น รอลส์ ความยุติธรรมทางสังคมเป็นทฤษฎีที่เน้นความสำคัญของอิสรภาพของบุคคลเป็นการเริ่มจากการมองความยุติธรรมในฐานะที่เป็นความเที่ยงธรรม หรือความเที่ยงตรง ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากขั้นตอนหรือกระบวนการหาจุดยุติปัญหาที่เที่ยงธรรม ปราศจากอคติส่วนตัว

โดยจอห์น รอลส์ พยายามให้คำตอบผ่านคำอธิบายในรูปทฤษฎีสัญญาประชาคม โดยเขาได้จินตนาการถึงมนุษย์ในสถานการณ์ที่ทุกคนอยู่ในจุดเริ่มต้น ภายใต้ม่านแห่งอวิชชา ซึ่งเขาก็ได้กำหนดให้มนุษย์ในจุดเริ่มต้นรู้ว่าตนเองเป็นผู้มีเหตุผล อิสระ สนใจผลประโยชน์ของตนเองและต่างมีความเสมอกัน พร้อมกันนั้นพวกเขาต่างตระหนักว่า พ้นจากฐานะแรกเริ่มอันเสมอกันนั้น มนุษย์ก็มีผลประโยชน์ที่มีทั้งเหมือนและต่างกัน กล่าวคือ รู้ถึงภาวะที่อาจมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน และยังรู้ถึงข้อจำกัดของศีลธรรมและสติปัญญาของมนุษย์ด้วยกันเอง

จากที่จอห์น รอลส์ นำเสนอไว้ข้างต้น เขาก็สรุปว่าหลักความยุติธรรมที่มนุษย์ในจุดเริ่มต้นเห็นพ้องต้องกันจะประกอบด้วยหลักการสำคัญ 2 ข้อ คือ 1) มนุษย์แต่ละคนจำต้องมีสิทธิเท่าเทียมกันในเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างมากที่สุด ซึ่งเทียบเคียงได้กับเสรีภาพอันคล้ายคลึงกันในบุคคลอื่น ๆ และ 2) ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสังคมต้องได้รับการจัดระเบียบให้เป็นธรรม

 จากข้อสรุป 2 ประการนี้ ประการแรกดูจะเป็นสิ่งที่ จอห์น รอลส์ ให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งก็หมายความว่า เขาเชื่อว่าเสรีภาพมีความสำคัญยิ่งกว่าทรัพย์สิน อำนาจ เกียรติยศ ซึ่งเขาเชื่อว่าไม่มีใครที่จะเอาเสรีภาพไปแลกกับอำนาจ ทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งเป็นหลักความยุติธรรมประการที่ 2 ทฤษฎีเรื่องความยุติธรรมของ จอห์น รอลส์ นี้มีความเป็นนามธรรมที่ซับซ้อน ยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ก็พอจะฟังได้ว่าเป็นทฤษฎีที่เน้นความสำคัญสูงสุดของเสรีภาพ

ด้านทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายก็มีทฤษฎีที่น่าสนใจ คือทฤษฎีที่ถือความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งกฎหมายโมเสสของพวกยิวโบราณ ที่ถือว่ากฎหมายและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากต่างล้วนมีกำเนิดมาจากพระเจ้า

ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมนั้นเป็นอุดมคติในกฎหมาย ซึ่งยกย่องเชิดชูคุณค่าความยุติธรรมไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็นความคิดอุดมคติ ซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรม

นอกจากนี้ ยังมีความยุติธรรมตามแบบพิธี หมายถึง ความยุติธรรมเชิงกระบวนการที่มีหลักมาตรฐานในการได้รับปฏิบัติหรือวินิจฉัยเช่นเดียวกัน หรือถือหลักความเสมอภาคในการถือปฏิบัติ อันเป็นการใช้บังคับกฎหมายอย่างไม่มีอคติหรือความลำเอียง ซึ่งเป็นการเน้นรูปแบบความสำคัญของกระบวนการปรับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมเหนือสิ่งอื่นใด

ส่วนความยุติธรรมตามเนื้อหา หมายถึง การพิจารณาความยุติธรรมอยู่ที่สาระสำคัญที่กำหนดเนื้อหาของกฎหมาย เพื่อความสอดคล้องกับหลักคุณค่าพื้นฐานของสังคมหรือมาตรฐานของความถูกต้อง ความเหมาะสมกับยุคสมัยและประโยชน์สุขของส่วนรวม นอกจากนั้นเคยมีผู้กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น สิ่งนั้นไม่จำต้องยุติธรรมเสมอไป”

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพื่อชวนคิดในประเด็นเรื่อง ความยุติธรรมกับการบังคับใช้กฎหมาย”.

โดย...

ผศ.ดร.มานพ พรหมชนะ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์