ฟื้นผืนป่ารักษาโลก

ฟื้นผืนป่ารักษาโลก

กิจกรรมการผลิตและการบริโภคของคนเราที่เข้มข้นมากขึ้น ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่ย้อนกลับมากระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทุกวันนี้ แต่นับว่าโชคดีที่โลกนี้ยังมี ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนที่จะลอยขึ้นไปสะสมบนชั้นบรรยากาศ โดยกระบวนการสังเคราะห์แสงแล้วเปลี่ยนเป็นคาร์บอน (C) ในเนื้อไม้ ที่เรียกว่ามวลชีวภาพ

ขณะเดียวกัน ต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นหรือป่าที่ถูกบุกรุกทำลายก็จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศนอกจากนี้ นักวิชาการประเมินกันว่าต้นไม้เหล่านี้อาจสูญเสียศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนได้ หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นราว 2.5 องศาเซลเซียส ป่าไม้ที่เคยเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนมายาวนาน อาจปลดปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาลกลับคืนสู่บรรยากาศได้

จากการประชุมนานาชาติด้านป่าไม้ (UN Forum on Forests) ครั้งล่าสุด เห็นพ้องกันว่าควรลดการสูญเสียป่าไม้ของโลกผ่านกลไกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (REDD+) การปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคเกษตรกรรมเพื่อการบุกรุกพื้นที่ป่า การปลูกฟื้นฟูป่าไม้ การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากไม้ และการวิจัยวัสดุทดแทนไม้ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

สำหรับสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มโดยรวมดีขึ้นบ้างแต่ยังคงพบการบุกรุกป่าและปัญหาไฟป่า จึงมีการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมมือกันดูแลรักษาป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เสนอมาตรการ 4 ด้านสำหรับการดูแลรักษาป่าอนุรักษ์ ซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับผืนป่าต่างๆ ได้แก่ 

1.ด้านกฎระเบียบและข้อตกลง เพื่อให้ชุมชนที่อยู่ในเขตและรอบเขตป่าได้ให้มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ชุมชนดูแล และร่วมมือในการจัดการป่าภายใต้เงื่อนไขกฎหมายของพื้นที่นั้นๆ 

2.ด้านเศรษฐศาสตร์ อาทิ การจัดตั้งกองทุนการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม การสนับสนุนคาร์บอนเครดิตของประเทศ การสร้างรายได้ให้กับชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและพึ่งพิงป่าอย่างสมดุล

3.ด้านสังคม ยกย่องและส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการและฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ และ 

4.ด้านสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งด้านข้อมูล การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การพัฒนากลไกและเครือข่ายในระดับต่างๆ โดยตระหนักดีว่าการสร้างแรงจูงใจที่ยั่งยืนนั้น คือ การปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา ของในหลวงรัชกาลที่ 9

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกันปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่า เพราะเราทุกคนล้วนมีส่วนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากไม่เร่งลงมือทำในวันนี้ เราอาจจะเจอกับภาวะการปลดปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาลจากต้นไม้กลับคืนสู่บรรยากาศก็ย่อมเป็นได้

โดย...

ดร.กัญจน์ชญา เม้าสิ้ว

นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย