กุญแจสำคัญสู่ทางรอดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ

กุญแจสำคัญสู่ทางรอดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ

ปฏิเสธไม่ได้เลยใช่มั้ยครับว่า ณ วันนี้ผลพวงจาก COVID-19 ได้นำพาเราเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจถดถอยเป็นอันเรียบร้อยแล้ว

หลายประเทศต้องออกมาตรการการเงินและการคลังออกมา เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ โดยที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่า วิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อไร เมื่อไรที่การค้าจะกลับมาดีเหมือนเดิม

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายกระทบกันหมด คนหรือธุรกิจที่รู้จักปรับตัวนั้นก็จะสามารถฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาแนะนำความรู้ทางการเงินเรื่องหนึ่งที่เชื่อว่าจะมีประโยชน์อย่างมหาศาลในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแบบตอนนี้ นั่นก็คือ “เทคนิคการบริหารจัดการกระแสเงินสด” นั่นเองครับ

“การบริหารจัดการกระแสเงินสดคืออะไร หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การทำอย่างไรให้ ยอดรายรับ หักด้วย รายจ่ายต่อเดือน แล้วยังคงเป็นบวก นั่นเองครับ แล้วทำไมการบริหารจัดการกระแสเงินสดถึงเป็นเรื่องสำคัญในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้? คำตอบก็คือการบริหารจัดการกระแสเงินสดจะช่วยให้เรามีเงินสดอยู่ในมือในระดับที่ปลอดภัยนั่นเองครับ ทำให้เรามีสภาพคล่องสูงขึ้น ลองนึกภาพตามนะครับ ว่า หากทุกเดือนๆ เรามีกระแสเงินสดติดลบ (รายจ่ายมากกว่ารายได้) นั่นหมายความว่าทุกๆ เดือนเงินในบัญชีเรากำลังน้อยลงๆ ไปนะครับ หากเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจดี เราอาจจะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวรอยอดขายก้อนใหญ่ที่กำลังจะเข้ามา, รอเงินเดือนที่กำลังจะเข้ามา หรือโบนัสที่น่าจะเข้ามาในช่วงปลายปี แต่ไม่ใช่สำหรับ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ที่ความไม่แน่นอนมีอยู่มาก เราไม่อาจทราบได้ว่าลูกค้าจะยกเลิกคำสั่งซื้อเราหรือไม่ ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเราหรือไม่ บริษัทจะเลิกจ้างเราหรือไม่ โบนัสจะยังได้อยู่หรือเปล่า การพยายามถือเงินสดให้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากครับ

หลักการของการบริการเงินสดนั่นก็คือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และ เปลี่ยนค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ให้กลายเป็นค่าใช้จ่ายคงที่

โดยในส่วนของการลดรายจ่ายนั้น ก็มีเทคนิคที่สามารถทำได้หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น1.รายจ่ายประจำก้อนใหญ่ จะเกิดขึ้นในเดือนไหนวางแผนให้ดี การรอให้ถึงกำหนดแล้วต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ออกไปทีเดียวอาจจะกระทบกับกระแสเงินสดในเดือนนั้นได้ การนำเงินก้อนมาแตกเป็นเงินงวดที่ต้องออมล่วงหน้าหลายๆ เดือนจะช่วย ให้เราสามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดได้ดีขึ้น

2.พิจารณาว่าสิ่งของนั่นจำเป็นที่เราต้องซื้อในช่วงนี้หรือไม่ หรือเลื่อนระยะเวลาที่ต้องใช้ของนั่นๆ ออกไปก่อน

3.เปรียบเทียบราคา หาข้อเสนอที่ดีที่สุดทุกครั้งก่อนการตัดสินใจจับจ่าย เงินทุกบาททุกสตางค์ในช่วงนี้ มีความสำคัญอย่างมาก ยอดที่ประหยัดลงไปได้แม่จะแค่หลักร้อยบาทต่อเดือนต่อรายการ แต่เมื่อรวมหลายๆ รายการเข้าด้วยกันก็เป็นเงินจำนวนมากครับ แม้กระทั่งการเปลี่ยนโปรโทรศัพท์ก็ช่วยให้เรามีกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้นได้นะครับ

นอกเหนือจากการวางแผนปรับลดรายจ่ายแล้ว ถัดมาก็คือในส่วนของการเพิ่มรายได้นั่นเองครับ โดยสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการทำงานของตัวเราเองและจากการให้สินทรัพย์ทำงาน โดยในส่วนของการสร้างรายได้ด้วยการทำงานของตัวเราเองนั้นอาจจะใช้เวลาว่างทำอาชีพเสริม โดยเริ่มจากสิ่งที่เราชอบหรือถนัด โดยที่ต้องระวังอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ควรใช้เงินลงทุนมากจนเกินไปนัก เพราะอาจจะเกิดทุนจม และกลายเป็นว่าเพิ่มผลลบต่อกระแสเงินสดนั่นเองครับ และในส่วนของการให้สินทรัพย์ทำงานนั้น หากเป็นเงินสดอาจจะเริ่มจากการเลือกฝากเงินในบัญชีที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรืออาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวผู้ลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เงินก้อนนั้นงอกเงยขึ้นนั่นเอง

และนอกเหนือจากสินทรัพย์ที่เป็นรูปตัวเงินแล้ว อาจจะลองพิจารณาสินทรัพย์อื่นๆ ด้วยว่าสามารถนำมาสร้างรายได้ ได้หรือไม่เช่นการปล่อยเช่า หรือให้ยืม เป็นต้น และอาจจะพิจารณาขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้และสามารถที่จะขายเป็นเงินได้ออกไป เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนต่อให้เกิดกระแสเงินสดเข้ามาเพิ่มขึ้นครับ และเมื่อเราบริหารจัดการเงินสดแล้ว อย่าลืมมองข้ามมุมมองของการลดความเสี่ยงต่างๆ เพราะอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจทำให้เราต้องใช้เงินก้อนใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากสินทรัพย์ หรือการเจ็บป่วยของเราเอง เราก็ต้องบริหารและวางแผนให้ครบทุกด้าน รวมไปถึงการออกกำลังกาย ดูแลตัวเองให้แข็งแรง อีกทั้งบริหารจิตใจของเราให้แข็งแรงด้วยเช่นกันนะครับ

สุดท้ายนี้ แม้เราไม่รู้ว่าวิกฤตินี้จะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน แต่ผมอยากหนุนใจทุกท่านให้อดทน และเข้มแข็ง วางแผนทุกด้านอย่างรอบคอบ แล้วเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ”