อย่าปล่อยให้โอกาสจากวิกฤตผ่านพ้นไป

อย่าปล่อยให้โอกาสจากวิกฤตผ่านพ้นไป

ในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ Winston Churchill ได้เคยกล่าวไว้ว่า “Never let a good crisis go to waste”

ซึ่งพอจะแปลได้ว่า อย่าปล่อยให้วิกฤติดีๆ ผ่านพ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งก็ทำให้นึกถึงวิกฤติต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งจากโควิดและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสสำหรับหลายๆ คนและหลายๆ องค์กรในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงก็ได้

สำหรับผู้บริหารองค์กรในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะผลักดันและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะมีความตั้งใจมานานและยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากความยากและสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็คือการทำให้คนยอมที่จะออกจาก Comfort Zone และปรับเปลี่ยนเมื่อคนไม่เห็นความจำเป็นหรือความสำคัญ ก็จะไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง

แต่เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤติแล้วแรงต้านหรือการไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปจนถึงขั้นไม่มี ด้วยเนื่องจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริหารไม่ต้องชักจูงหรือทำให้บุคลากรเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทุกๆ คนก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าผู้บริหารจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทุกๆ เรื่องในภาวะเช่นนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการจัดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนของสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนที่ผู้บริหารควรจะให้ความสำคัญในปัจจุบันก็คือ การเปลี่ยนแปลงในวิธีการเติบโตขององค์กร

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าในภาวะวิกฤติเช่นปัจจุบัน องค์กรควรจะต้องมาคิดเรื่องการเติบโตหรือ? องค์กรควรจะมุ่งเน้นเรื่องของความอยู่รอดและต่อเนื่องมากกว่า?

ถ้ามองในมุมที่แตกต่างจากความเชื่อทั่วๆ ไปสภาวะเช่นปัจจุบันอาจจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการที่ผู้บริหารจะมาคิดทบทวน เรื่องการเติบโตขององค์กรเสียใหม่ เนื่องจากองค์กรธุรกิจทั่วๆ ไปจะใช้เวลาไปกับการลดต้นทุนการเพิ่มผลิตภาพ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยของบุคลากร ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการเติบโตต่อไปในอนาคตข้างหน้าลดน้อยลง ผลจากการวิจัยของ McKinsey พบว่าผู้บริหารประมาณ 3 ใน จะเชื่อว่าการลงทุนในด้านนวัตกรรมเพื่อการเติบโตจะค่อยๆ กลับไปเหมือนเดิมเมื่อวิกฤติได้ผ่านพ้นไปแล้ว อย่างไรก็ดี ผลวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ผู้บริหารประมาณ 1 ใน 4 มีความเชื่อว่าการเติบโตยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกในสภาวะปัจจุบัน

สาเหตุที่เสนอให้ทบทวนเรื่องของการเติบโตใหม่ในปัจจุบันเนื่องจาก สมมติฐานในการเติบโตและการสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรต่างๆ ที่เคยมีมาในอดีตจะล้าสมัยและไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในโลกหลังยุคโควิด ขณะเดียวกันความเชี่ยวชาญความชำนาญและความสามารถหลักที่ทำให้องค์กรธุรกิจแตกต่าง ก็จะไม่กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความแตกต่างอีกต่อไป ดังนั้นในสภาวะที่การเปลี่ยนแปลงสามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นโดยไม่ยากลำบาก(เนื่องจากภาวะวิกฤติ) สิ่งที่ผู้บริหารควรจะมุ่งเน้นคือเรื่องของการทบทวนและแสวงหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ

การเติบโตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปนั้นครอบคลุมทั้งรูปแบบของการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่จะต้องเปลี่ยนไป รวมทั้งช่องทางการเข้าถึงลูกค้าที่จะต้องเปลี่ยนไป การถือกำเนิดและความแพร่หลายของแนวคิด เรื่อง Cloud Kitchen ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ธุรกิจจะต้องดิ้นรนเพื่อหาโอกาสในการเติบโตแบบใหม่ๆ ขณะเดียวกันดิจิทัลเทคโนโลยีก็ทำให้ช่องทางและวิธีการในการเข้าถึงลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต

การรีบคิดทบทวนและแสวงหาการเติบโตใหม่ๆ ตอนนี้จะทำให้องค์กรก้าวนำหน้าคู่แข่งอื่นๆ ไปก่อน ทั้งนี้เมื่อวิกฤติต่างๆ เริ่มกลับสู่ปกติแล้วบรรดาคู่แข่งต่างๆ ถึงจะค่อยเริ่มคิดเรื่องของการเติบโต ซึ่งเมื่อถึงเวลาดังกล่าวถ้าองค์กรได้มีโอกาสก้าวนำไปก่อนแล้วก็จะทำให้เกิดการได้เปรียบคู่แข่งขัน ดังนั้น ต้องอย่าลืมว่าในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่และต้องอย่าปล่อยให้โอกาสดังกล่าวผ่านไปอย่างเสียประโยชน์