เส้นทางฝ่าวิกฤตสู่การเติบโตในอนาคตของ ปตท.สผ.

เส้นทางฝ่าวิกฤตสู่การเติบโตในอนาคตของ ปตท.สผ.

ปีนี้ ปตท.สผ.ครบรอบ 35 ปี ตั้งแต่วันแรกบนเส้นทางสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากมือใหม่จนถึงในวันนี้ความเป็นมืออาชีพที่ก้าวไปเกือบทุกทวีป

ด้วยจุดหมายที่ชัดเจนในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทย ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐ

แต่คงไม่มีใครก้าวไปข้างหน้าอย่างราบรื่นตลอด ปตท.สผ.ก็เช่นกันครับ ผมจะเล่าถึงความท้าทายครั้งใหญ่ที่เราเจอช่วงปลายปี 2557 ซึ่งเปรียบเหมือนพายุฝนอันมืดครึ้ม อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้องเผชิญ ปัญหาราคาน้ำมันโลกตกต่ำจากการที่สหรัฐมีเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันจากหินดินดานได้ (Shale Oil) ทำให้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบได้จำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบมากกว่าความต้องการใช้ ราคาน้ำมันดิบค่อยๆ ดิ่งลงจาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

วิกฤตินี้ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันชะงัก บริษัทน้ำมันต้องประคองให้รอดจากขาดทุน ความผันผวนนี้เกิดขึ้น 3-4 ปี นานพอที่จะทำให้บริษัทน้ำมันหลายประเทศต้องหยุดถาวร เราเองก็เช่นกัน แต่เป็นการหยุดเพื่อหาทางออก และถือเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนและเตรียมพร้อมกับบรรยากาศการลงทุนที่ไม่เหมือนเดิมเพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเมื่อฟ้าเปิดอีกครั้ง

จนกระทั่งปี 2561 อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเริ่มสดใส เมื่อเราได้เตรียมตั้งเข็มทิศไว้ล่วงหน้าด้วยกลยุทธ์ Expand ที่มีเป้าหมายขยายการลงทุนในประเทศที่เราเชี่ยวชาญ และในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูง 

ด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและก้าวไกลพอสมควร เราชนะการประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมหลายแห่ง ทั้งแหล่งบงกช แหล่งเอราวัณ ชนะการประมูลในมาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน รวมทั้งเข้าซื้อกิจการต่างประเทศอีก 2 แห่ง ทำให้เพิ่มปริมาณการขายปิโตรเลียมมากขึ้น เพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิต (R/P ratio) จากเดิมที่มี 5 ปี ไปถึงมากกว่า 7 ปี ในเวลารวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะนั่น คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมครับ

เส้นทางครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเท่านั้น เรามองว่าอีกหลายสิบปีข้างหน้า พลังงานดั้งเดิม เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะถึงจุดที่มีบทบาทน้อยลง โลกหันไปใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ถ้ารอถึงวันนั้นอาจปรับตัวไม่ทันจึงหาทางลงทุนธุรกิจใหม่ที่จะเสริมศักยภาพและเพิ่มความมั่นคงในอนาคต 

เรากำลังโฟกัสธุรกิจ Gas-to-Power ที่ต่อเนื่องกับธุรกิจหลักของเรา โดยเริ่มลงทุนในเมียนมาที่สำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติหลายโครงการอยู่แล้ว เมียนมากำลังพัฒนาประเทศ ต้องการไฟฟ้าสูงและยังขาดซัพพลายอีกมากจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจ

และในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น เทคโนโลยีมีอิทธิพลทุกภาคส่วน ธุรกิจเกี่ยวกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เป็นอีกด้านที่เราสนใจตอนนี้บริษัท ARV ซึ่งเป็นบริษัทด้าน AI & Robotics ที่ตั้งเมื่อปีก่อน กำลังร่วมกับพันธมิตรพัฒนาหุ่นยนต์และนวัตกรรม 4 ประเภท คือ หุ่นยนต์ปฏิบัติการใต้น้ำที่เน้นให้บริการในธุรกิจปิโตรเลียม เช่น หุ่นยนต์ Xplorer ตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล Nautilus หุ่นซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล 

ถัดมา คือ โดรนอัจฉริยะ สำหรับการตรวจสอบและประมวลผลโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม เช่น ปล่องเผาก๊าซส่วนเกิน หรือเสาโทรคมนาคม ประเภทที่ 3 คือ โดรนและปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในเทคโนโลยีการเกษตรที่เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตรเพื่อทำให้ผลผลิตดีขึ้น

ประเภทสุดท้าย คือ หุ่นยนต์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยช่วงระบาดของโควิด-19 ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบและกล่องทำหัตถการแรงดันลบมอบให้โรงพยาบาลทั่วทุกภาค นอกจากนี้ ยังพัฒนาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสงยูวี ที่ออกแบบและผลิตในไทยแต่มีมาตรฐานสากล ช่วยทดแทนการนำเข้าที่มีราคาสูงกว่าถึง 2-4 เท่า โดยจะวางจำหน่ายเร็วๆ นี้

การเตรียมความพร้อมที่ผมได้กล่าวไว้ ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบภายในและกระบวนการคิดให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง ทรานส์ฟอร์มกระบวนการทำงานให้รับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป หาพันธมิตรที่มีแนวทางเดียวกันเดินไปด้วยกัน ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้เราไปได้ไกลขึ้นและถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ช่วยให้ก้าวไปได้มั่นคงและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของฟ้าฝนยากที่จะคาดเดาได้อย่างแม่นยำครับ จนมาถึงปีนี้ 2563 พายุฝนก็กระหน่ำมาอีกครั้ง และมาพร้อมมหันตภัยโรคระบาดที่สั่นสะเทือนโลกในวงกว้าง อุตสาหกรรมปิโตรเลียมต้องเผชิญวิกฤติคูณสอง ทั้งสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิฯ - รัสเซีย ประกอบกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้พลังงานโลกลดลง 30% ส่งผลให้เราต้องชะลอการลงทุนและปรับแผนงานเพื่อกลับมาทบทวนสถานการณ์

ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติครั้งก่อน แม้ต้องอยู่ในสถานการณ์ราคาน้ำมันระดับต่ำ แต่กลยุทธ์ที่ทำให้เราเติบโตได้ คือ การหาปัจจัยที่เราควบคุมได้และบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือ การรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการควบคุมโครงสร้างต้นทุนการดำเนินการ

กลยุทธ์ที่เราใช้ช่วงนั้น มีหลายรูปแบบ ทั้ง Save to be Safe ,Spend Smart และ 3R เพื่อบริหารจัดการต้นทุน คือ การลดละหรือเลื่อนกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ทบทวนและเปลี่ยนวิธีทำงานเพื่อให้โครงสร้างต้นทุนต่ำลง โดยยังรักษามาตรฐานความปลอดภัย เช่น ลดจำนวนวันและค่าใช้จ่ายการเจาะหลุม เจรจาลดต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์และบริการ รวมถึงบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนให้สอดรับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง เรียกได้ว่าเป็น New normal ของเราในตอนนั้นก็ว่าได้

ถึงแม้วิกฤติในปีนี้หนักกว่าครั้งที่แล้ว แต่ผมมั่นใจว่า ปตท.สผ.รับมือได้ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา 35 ปี สิ่งที่ได้เผชิญทำให้เรารอบคอบ วางเส้นทางการเดินทางที่ชัดเจน และมีกำลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นที่จะนำพาองค์กรให้เติบโตต่อไปในอนาคต รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศได้ยั่งยืนตามภารกิจของเราด้วย

โดย...

พงศธร ทวีสิน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)