เมื่อความน่าเชื่อถือของประเทศสั่นคลอน

เมื่อความน่าเชื่อถือของประเทศสั่นคลอน

ข่าวใหญ่อาทิตย์ที่แล้ว ที่ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบยุติธรรมของประเทศ

โดยเฉพาะการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย คือ ข่าวสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ที่รายงานว่า สำนักงานอัยการของไทย มีมติ “สั่งไม่ฟ้อง” ทายาทตระกูลใหญ่ เจ้าของบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ของโลก กรณีขับรถจนเจ้าหน้าที่ตำรวจตายในหน้าที่ โดยฝ่ายตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ตายไม่มีความเห็นแย้ง คดีนี้ยืดเยื้อมากว่า 8 ปี และผู้ต้องหาไม่ให้ความร่วมมือ เดินทางออกนอกประเทศ ไม่มารายงานตัวจนถูกออกหมายจับ และหลายคดีที่ถูกกล่าวหาต้องหมดอายุความ ล่าสุด มีการเดินเรื่องขอความเป็นธรรมที่นำมาสู่การ “สั่งไม่ฟ้อง” อย่างที่เป็นข่าว

ข่าวนี้ทำให้สังคมเกิดความสงสัยและต้องการความกระจ่างชัดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีผลอย่างสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมของประเทศ ซึ่งสำคัญมากทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และต่อธรรมาภิบาลของภาครัฐ คือ ความพร้อมที่จะทำหน้าที่อย่างถูกต้องซึ่งมีผลมากต่อเศรษฐกิจและการลงทุน กระแสสังคมในเรื่องนี้แรงมาก จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีก็มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ

ในอาทิตย์เดียวกัน ที่มาเลเซีย มีข่าวศาลมาเลเซียตัดสินจำคุก 12 ปี นายราจิบ ราซัค อดีตนายกฯมาเลเซียในความผิดเจ็ดข้อหา ที่รวมถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบ ความผิดฐานฟอกเงิน การทำผิดหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจนก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวโยงกับความอื้อฉาวของการบริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐ หรือ 1MDB ที่ถูกตั้งขึ้นในสมัยที่นายราจิบ ราซัค เป็นนายกฯเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในมาเลเซีย โดยนายราจิบ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนนี้ด้วยตัวเอง กองทุนระดมเงินทุนโดยการออกพันธบัตรในต่างประเทศ แต่การใช้เงินรั่วไหลมาก และตัวนายราซัคเองถูกตั้งข้อหาว่าได้โยกเงิน 2.1 หมื่นล้านบาทจากกองทุน 1MDB เข้ากระเป๋าตัวเอง 

ความอื้อฉาวของกองทุน 1MDB ได้สร้างความกังขาให้กับประชาชนมาเลเซีย จนนายราจิบแพ้เลือกตั้งและถูกดำเนินคดีในที่สุด คดีนี้ถือเป็นบททดสอบสำคัญในความพยายามที่จะปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นในมาเลเซีย รวมถึงความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมของประเทศ

ในสายตานักลงทุน เทียบ 2 กรณีระหว่างไทยกับมาเลเซีย กรณีมาเลเซียที่ศาลตัดสินจำคุกนายกฯ ดูมีภาษีกว่าในแง่ความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรม

1.มาเลเซียสามารถนำผู้นำประเทศที่ถูกกล่าวโทษมาขึ้นศาลได้ มาฟังผลการตัดสินและปรากฎตัวในศาล ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นที่มาเลเซีย ที่บุคคลระดับนายกฯ ถูกกล่าวโทษ แต่ของเราทำไม่ได้ ไม่สามารถนำผู้ถูกกล่าวโทษระดับผู้นำประเทศมาขึ้นศาลได้ ทำให้นักลงทุนมองความเข้มแข็งของระบบยุติธรรมมาเลเซียเทียบเคียงได้กับเกาหลีใต้ ที่สามารถนำบุคคลระดับนายกฯ มาขึ้นศาล และตัดสินลงโทษได้

2.การทำหน้าที่ของหน่วยงานรักษากฎหมายของมาเลเซีย ทั้งอัยการและศาลดูเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพ มีเหตุมีผลในคำตัดสินที่ออกมา ดูเป็นระบบและน่าเชื่อถือ ต่างกับกรณีของเราที่ประชาชนกังขาในการทำหน้าที่รักษากฎหมายของอัยการและตำรวจ ทำให้การชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ มีความสำคัญ ทั้งต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมของประเทศ

3.การที่บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวโทษ ถูกนำมาขึ้นศาล และถูกตัดสินลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ทำให้นักลงทุนมีความสบายใจว่ากฎหมายของประเทศไม่มีการเลือกปฏิบัติ ใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนและนักลงทุนจะสามารถได้รับการปกป้องสิทธิตามครรลองของกฎหมาย ชี้ให้เห็นถึงระบบการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ประชาชนพึ่งได้ ไม่เลือกปฏิบัติ หรือมีระบบอุปถัมภ์

ความเข้มแข็งของระบบยุติธรรมนั้นสำคัญมากต่อเศรษฐกิจ เพราะระบบยุติธรรมที่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ตรงไปตรงมา จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจ เทียบกับกรณีที่ระบบบังคับใช้กฎหมายของประเทศอ่อนแอ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเส้นสาย ตัวบุคคล หรือการวิ่งเต้น สิ่งเหล่านี้จะสร้างข้อจำกัดให้กับการทำธุรกิจ และการแข่งขัน ทำให้ประเทศไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และประเทศเสียโอกาสที่จะเติบโต

ในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศเรามีปัญหามากโดยเฉพาะธรรมาภิบาลในภาครัฐ คือความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อภาครัฐในฐานะผู้คุมกฎ ไม่พร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีเหตุมีผล ปัญหาของประเทศจึงมีมาก ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความอ่อนแอของธรรมาภิบาลภาครัฐพูดได้ว่า เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอลง การลงทุนลดลงต่อเนื่อง ทั้งโดยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุน ผลคือ เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราต่ำสุดเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ประเทศจึงเสียโอกาส ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าความตกต่ำของธรรมาภิบาลภาครัฐ ถ้าไม่แก้ไข นับวันจะทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ

โดยแม้แต่นักลงทุนญี่ปุ่นที่เคยเป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้ความไว้วางใจประเทศไทยมาตลอดก็เริ่มตีจาก ล่าสุด ไม่มีบริษัทญี่ปุ่นที่กำลังย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเลือกที่จะมาประเทศไทย แต่เลือกที่จะไปประเทศอื่น เช่น เวียดนามแทน

ด้วยเหตุนี้ ข่าวการไม่สั่งฟ้อง โดยสำนักงานอัยการ จึงเป็นที่จับตาของคนทั่วโลกว่า ระบบยุติธรรมของประเทศเราไว้วางใจได้หรือไม่ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการทำธุรกิจในประเทศไทยต่อการลงทุน และความปลอดภัยของผู้เดินทางมาประเทศเรา จึงอยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักเรื่องนี้ เพราะการขาดธรรมาภิบาลในการทำหน้าที่ หรือการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะต่อองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่เท่านั้น แต่มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศ