บริหารเศรษฐกิจยุคโควิด ความเชื่อมั่นคือหัวใจ

บริหารเศรษฐกิจยุคโควิด ความเชื่อมั่นคือหัวใจ

สิ่งที่รัฐควรทำ ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวมีอย่างน้อย 3 ประการ

2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาล กรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งทหารและคณะทูตจากต่างประเทศ เสี่ยงเดินทางแพร่เชื้อในประเทศ

ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องความสำคัญของการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจ ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูง ความพยายามของรัฐในการหานักท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ การค่อยๆ ผ่อนปรน เริ่มตั้งแต่หมู่คณะขนาดเล็ก ไล่ไปกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงเช่นนักธุรกิจและผู้มารักษาพยาบาล ถัดไปก็ทำ Travel Bubble กับประเทศต่างๆ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล

แต่สาเหตุหลักที่ประชาชนไม่พอใจ เพราะรัฐบาลเน้นกับประชาชนทุกวัน 'การ์ดอย่าตก' ทั้งสื่อสารว่าอาจระบาดรอบใหม่ ที่ผ่านมาเราคุมการแพร่ระบาดและจำนวนผู้เสียชีวิตได้ดี นอกจากด้วยความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ ยังเพราะประชาชนเสียสละต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทั้งเคอร์ฟิว ปิดบ้านปิดเมือง ขณะที่วันนี้เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้น ต่างประเทศก็พบการระบาดซ้ำ รัฐกลับชักนำความเสี่ยง นำเข้าผู้ติดเชื้อใหม่เสียเอง

หัวใจการบริหารเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวยุคโควิด คือ ความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ปราศจากโรค ทุกคนอยากมาเที่ยวบ้านเราเพราะปลอดภัย ยิ่งปลอดภัย ยิ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวมา นักท่องเที่ยวที่สะอาด ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เปิดแล้วไม่ต้องปิด เปิดแล้วคนในประเทศยังใช้ชีวิตต่อไปได้ ไม่เจ็บป่วย เพราะรัฐต้องตระหนักว่า ไม่ใช่ทุกคนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเท่าเทียมกัน แต่หากเกิดการระบาดซ้ำ ทุกคนเสี่ยงเจ็บป่วยเท่ากันหมด

ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวรวมถึงคนไทยเอง ต้องมาจากความจริงจังของรัฐ ในการกำหนดเกณฑ์ตรวจโรคให้ชัด บังคับใช้มีประสิทธิภาพ กับผู้มาเยือนทุกระดับไม่ว่านักท่องเที่ยวทั่วไป คนรวย หรือผู้มีตำแหน่งสูงอย่างเท่าเทียม เพราะขนาดนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีบราซิลยังติดได้ ทุกคนเสี่ยงเป็นผู้มีเชื้อได้ทั้งนั้น การตรวจให้รัดกุมจะช่วยยืนระยะให้การระบาดรอบ 2 มาช้าลง ช่วยให้การเปิดประเทศไม่เสี่ยงเกินไป และไม่กระทบระบบสาธารณสุขหนักไป

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐควรทำ ก่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวมีอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก ทำแผนรับมือการระบาดรอบสอง และประกาศให้ทุกคนทราบ แผนที่ดีและชัด ช่วยให้ทุกฝ่ายรู้หน้าที่ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน แผนที่ชัดเจนยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีกับประชาชน ดีกว่าบอกเฉยๆ ว่าการ์ดอย่าตก แต่บอกเลย ถ้าพื้นที่ไหน พบผู้ติดเชื้อกี่คน จะต้องปิดหรือล็อกดาวน์ นานแค่ไหน การสื่อสารเช่นนี้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ คาดการณ์อนาคตได้ และตระหนักในการมีส่วนร่วม ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับก็มีแผนชัดเจนในการทำงาน

ประการที่สอง สิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจมากขึ้นคือ รัฐแก้ไขความบกพร่องที่เกิดขึ้นตอนระบาดรอบแรกหรือยัง หน้ากากอนามัยที่เคยไม่พอ ถ้าระบาดรอบสองจะพอไหม รอบก่อนที่หน้ากากหายไป มีคนรับผิดชอบหรือยัง อุปกรณ์ที่คุณหมอขาดแคลนรอบก่อน หากมีระบาดรอบหน้า จะพอหรือไม่ รัฐบาลต้องจริงจังกับสิ่งเหล่านี้ ไม่งั้นปัญหาเก่าวนกลับมาใหม่ เราก็ไม่พร้อมเหมือนเดิม

ประการที่สาม เมื่อกำหนดแผนแล้ว หน่วยงานใดไม่ปฏิบัติไม่ว่ารัฐหรือเอกชน จนทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศ เช่น เป็นผู้เชิญมา แต่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์แล้วพบว่าติดเชื้อ หรือตัวเองพบคนต่างชาติแต่ไม่กักตัว จนแพร่เชื้อโรค หรือเดินทางไปต่างประเทศ กลับมาแล้วไม่กักตัว ...ต้องมีโทษอย่างไร เสียค่าปรับอย่างไร สิ่งเหล่านี้รัฐต้องกำหนดให้ชัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่จริงจัง เอกชนปฏิบัติตาม และประชาชนเชื่อถือ

นอกจากนี้ ประเด็นที่รัฐควรเร่งสื่อสารในปัจจุบันมี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การเปิดประเทศเป็นเรื่องจำเป็น และสอง การยอมให้มีผู้ติดเชื้อ ในระดับที่ควบคุมได้ เป็นเรื่องที่รับได้ เพราะทั้งสองข้อจำเป็นต่อการพาสังคมไทยไปข้างหน้า รักษาไว้ทั้งความมั่นคงทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมกัน

เราไม่สามารถปิดประเทศตลอดไป เราไม่รู้ว่าจะมีวัคซีนเมื่อไร การเปิดประเทศในแบบที่รัดกุม มีระบบติดตามที่ดีหากมีผู้ติดเชื้อ มีทรัพยากรสนับสนุนระบบสาธารณสุขที่เพียงพอ และยอมให้มีผู้ติดเชื้อได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นที่ 'ความเชื่อมั่น' ครับ