อนาคตสังคมสูงวัยไทยหลังโควิด

อนาคตสังคมสูงวัยไทยหลังโควิด

ในประวัติศาสตร์ มนุษยชาติล้วนต่างแสวงหาน้ำพุแห่งชีวิต และจอกศักดิ์สิทธิ์เพื่อการมีชีวิตอันอมตะ

แต่จนถึงปัจจุบัน เราก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความชราไว้ได้ แต่วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ก็สามารถทำให้คนเรามีอายุขัยสูงขึ้น มีอายุขัยเฉลี่ยสูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนคาดการณ์ว่าเด็กที่เกิดในทุกวันนี้ มีโอกาสสูงมากที่จะมีอายุยืนถึง 100 ปี

แม้ว่านั่นจะเป็นข่าวดีที่ทุกคนมีโอกาสอยู่บนโลกนี้ได้นานขึ้น ได้มีโอกาสอยู่กับครอบครัว ชื่นชมความสวยงามที่ผ่านไปในแต่ละวัน แต่เราจะใช้ชีวิตอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อผู้สูงอายุสามารถเตรียมตัวที่จะใช้ชีวิตอย่างดีทั้งในด้านสุขภาพกายใจและมีฐานะทางการเงินที่ดีพอสมควร

เมื่อมนุษย์อายุยืนขึ้น เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับชีวิตการทำงานอีกครั้งว่าเราจะทำงานไปจนถึงอายุเท่าไร เราจะออมอย่างไร ลงทุนอย่างไร ทำอย่างไรผู้สูงอายุจะไม่ลิดรอนสิทธิของคนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาปกครององค์กรและมีบทบาททางสังคม หลังจากเกษียณเราจะทำอะไร และระบบสวัสดิการที่เหมาะสมเป็นอย่างไร

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นก็ส่งผลให้คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นยากขึ้นไปอีก เนื่องจากโควิดได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยและหลายประเทศตกต่ำ รายได้ของผู้คนขาดหาย จนธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอย่างเร็วคือ 2 ปีกว่าที่จะกลับคืนสู่ระดับเดิม หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้นหากยังไม่สามารถมีวัคซีนและการทำให้คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโรค จนเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกกลับมาสู่ปกติ

ปัจจุบันไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว อีก 15 ปี ไทยจะก้าวเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) หรือมีผู้สูงอายุมากถึง 30% ของประชากรซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากข้อมูลที่น่าตกใจในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอีกประเด็นหนึ่งก็คือคนวัยทำงานจะหายไปจากระบบอย่างน้อย 7 ล้านคนใน 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่เด็กเกิดขึ้นไม่ทันทดแทน โดยปัจจุบันมีคนวัยทำงานประมาณ 42 ล้านคน ในปี 2583 จะเหลือประมาณ 35 ล้านคน อีกทั้งไทยยังประสบปัญหาเชิงคุณภาพคือ ผลิตภาพแรงงานต่ำ ผู้สูงอายุของไทยจำนวนมากยังมีฐานะยากจน โดย 1 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 

โดยภาพรวมแล้ว ไทยมีปัญหาในสังคมสูงวัยจากเหตุผล 4 ประการ คือ เด็กเกิดน้อยลง คนอายุยืนขึ้น คนวัยทำงานน้อยลง และประชาชนยังมีรายได้ต่ำ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและงบประมาณในอนาคต เนื่องจากวัยแรงงานเป็นกลุ่มเดียวที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายการลดลงของวัยแรงงานจึงส่งผลต่อรายได้และงบประมาณของภาครัฐที่จะนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศและจัดสวัสดิการ โจทย์สำคัญจึงต้องเพิ่ม Productivity มหาศาลเพื่อชดเชยแรงงานที่หายไป พร้อมกับเพื่อยกระดับสู่ประเทศรายได้สูง

ปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุส่วนใหญ่คือ เรื่องรายได้ อาชีพ และเงินออม ส่วนในภาพรวมคือเรื่องการสร้างหลักประกันด้านรายได้ ภาระทางการคลัง ระบบสวัสดิการ การที่อัตราส่วนศักยภาพเกื้อหนุนหรืออัตราส่วนประชากรวัยทำงาน ต่อวัยสูงอายุ 1 คนลดลงจาก 5 ต่อ 1 เป็นประมาณ 2 ต่อ 1 ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า จะเป็นโจทย์สำคัญมาก เพราะหากระบบบำนาญยังคงรูปแบบเดิม ภาระหนักอึ้งส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ประชากรวัยทำงาน ภาระทางการคลังจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญระดับประเทศ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุของไทยยังขาดการเตรียมความพร้อม ไม่มีรายได้หรือเงินออมเพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งรายได้หลักจากเบี้ยยังชีพ ขณะที่คนวัยทำงานปัจจุบันส่วนหนึ่งยังขาดการเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อชีวิตยามชราดังนั้น สวัสดิการและนโยบายทางสังคมจึงควรมีความหลากหลาย โดยอาจแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ยากจนและเฉียดจนที่มีรายได้ไม่มากนัก ควรให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน กลุ่มที่พอมีพอกิน เป็นกลุ่มที่ควรเติมทักษะให้ดูแลตัวเองหรือทำงานบางอย่างได้ กลุ่มสุดท้ายที่เลี้ยงตัวได้ไปจนกลุ่มที่มีฐานะดี เป็นกลุ่มที่ควรส่งเสริมให้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม

ในด้านบวก แนวโน้มในอนาคตคือตลาดผู้สูงอายุ (Silver Market) มีการเติบโตสูง กลุ่มผู้สูงอายุมีความต้องการสินค้า บริการที่เฉพาะหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าบริการที่ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ระบบอัตโนมัติ สินค้าบริการสุขภาพและความปลอดภัย ที่อยู่อาศัย การศึกษาเรียนรู้การเงิน ประกัน ในขณะที่ไทยมีศักยภาพที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาตอบโจทย์อุตสาหกรรมผู้สูงอายุ เช่น ด้านเภสัชกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพชีวการแพทย์หุ่นยนต์และเครื่องกลเทคโนโลยีดิจิทัลความสร้างสรรค์ นาโนเทคโนโลยีและสิ่งทออัจฉริยะ

ในอนาคต มีสิ่งที่เราต้องทำอีกมากเพื่อปรับตัวกับสังคมผู้สูงอายุ โควิด-19 ทำให้การเตรียมการยากขึ้นและต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ โดยภาพอนาคตที่พึงปรารถนาน่าจะเป็นการเปลี่ยนสังคมสูงวัย(Ageing Society) ไปเป็นสังคมที่ปราศจากอายุ (Ageless Society) อันเป็นสังคมที่คนทุกรุ่นสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งเป็นสังคมที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาร่วมกัน

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/