อย่าเชื่อ เพียงเพราะเขา “ดู” น่าเชื่อ

อย่าเชื่อ เพียงเพราะเขา “ดู” น่าเชื่อ

เฉียน จื่อหยา (钱治亚) นักธุรกิจหญิงชาวจีน ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “หญิงผู้มีใบหน้าดุจพระโพธิสัตว์ หากแต่ลงมือดั่งสายอสุนีฟาด”

แถมยังมี “สตอรี่” ว่าเธอขยันทำงานเกินเวลาเป็นประจำ จนหลงไหลการดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้เธอก่อตั้งร้านกาแฟเล็กๆแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ชื่อว่าร้านกาแฟ “รุ่ยซิ่ง” (瑞幸咖啡)

ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน ร้านกาแฟเล็กๆแห่งนี้ได้ขยายสาขาไปถึง 525 สาขาทั่วประเทศจีน และเพิ่มจำนวนร้านอย่างต่อเนื่องเป็น 2,073 ร้านภายในปีถัดมา โดย ณ สิ้นปี 2562 รุ่ยซิ่ง มีจำนวนสาขามากถึง 4,507 ร้าน (เฉลี่ยเปิด 1 สาขาในทุกๆ 4 ชั่วโมง!!) โดยมีจำนวนมากกว่าร้านกาแฟระดับโลกอย่างสตาร์บัคส์ ที่ทำธุรกิจในจีนมาตั้งแต่ปี 2542 และมีสาขากว่า 4,200 แห่ง

สตอรี่ของรุ่ยซิ่ง ยังต่อยอดด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในฝันของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้างความโดดเด่นและแตกต่าง ด้วยการให้ลูกค้าจ่ายเงินโดยไร้เงินสดผ่านแอปทั้งของตนเองและ WeChat Pay และมีบริการสั่งกาแฟผ่านแอปให้มารับที่ร้าน หรือส่งไปหาลูกค้าได้อีกด้วย แตกต่างจากบริการของเจ้าตลาดอย่างสตาร์บัคส์ ที่เน้นให้ “ประสบการณ์ภายในร้าน” แก่ลูกค้า

นอกจากแผนธุรกิจอันน่าทึ่งแล้ว การขยายจำนวนหน้าร้านด้วยสปีดที่เร็วกว่านรก และการลดราคาอย่างดุเดือดสร้างยอดขายที่โดดเด่นให้กับร้านกาแฟสัญชาติจีนรายนี้ ให้กลายเป็นความภาคภูมิใจของคนจีน และผู้หญิงจีน โดยบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯอย่าง Nasdaq ได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 ปี และเป็นที่รู้จักของนักลงทุนในชื่อ Luckin Coffee

แต่อยู่ๆภาพลักษณ์อันสวยงามก็ได้พังทลายลง โดยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศต่างๆกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อยู่นั้น บริษัทได้แถลงว่าได้มีการตรวจสอบพบการตกแต่งบัญชีและยอดขายตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯเมื่อต้นปี 2562 โดยมีมูลค่าวงเงินรวมสูงถึง 2.2 พันล้านหยวน หรือเกือบหมื่นล้านบาท!

โดยผู้สร้างแรงบันดาลใจอย่างเฉียน จื่อหยา ถูกถอดจากตำแหน่ง CEO รวมไปถึง Angel Capitalist อย่างนายลู่ เจิ้งเย่า ก็เพิ่งโดนผู้ถือหุ้นออกเสียงให้ออกจากตำแหน่งประธานบริษัทด้วย และมีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดีตามมาอีกหลายกระทง

กรณีของ Luckin Coffee เป็นแรงกระตุ้นให้วุฒิสมาชิกสหรัฐฯเปิดฉากไล่ต้อนบริษัทจีนที่ไม่ยินยอมให้องค์กรตรวจสอบทางบัญชีของสหรัฐฯเข้าถึงข้อมูลของบริษัท ไม่ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯได้อีกต่อไป ซึ่งกรณีนี้ ดูเผินๆแล้วเหมือนกับว่ามาตรฐานการตรวจสอบของจีน ดูจะด้อยกว่าของประเทศที่พัฒนาแล้ว

แต่ล่าสุดเมื่อเกิดกรณี “หาเงินตัวเองไม่เจอ” ของบริษัทดิจิตัล เพย์เมนท์ สัญชาติเยอรมันชื่อดังอย่าง Wirecard AG ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่ทรงคุณค่ามากที่สุด 30 อันดับแรกของเยอรมัน ทำให้เราอาจต้องทบทวนเรื่องนี้กันอีกครั้ง

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Wirecard AG ได้แจ้งว่า ผู้สอบบัญชีของบริษัทไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันถึงการมีอยู่ของเงินในบัญชีบริษัทจำนวน 19,000 ล้านยูโร ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการปลอมแปลงบัญชีเกิดขึ้น โดย CEO ของบริษัท Markus Braun ลาออกจากตำแหน่ง และถูกตำรวจเยอรมันจับตัวได้ในเวลาต่อมา ส่วนผู้บริหารเบอร์สอง นั้นยังคงหลบหนีการจับกุมอยู่

Wirecard AG มี CEO หนุ่มไฟแรง ดีกรีปริญญาเอก เปี่ยมด้วยประสบการณ์ ทั้งยังเป็นนักพูดรับเชิญในระดับนานาชาติ นอกจากนี้บริษัทเองก็เป็น “ความภาคภูมิใจแห่งชาติ” ของเยอรมัน ที่เชิดหน้าชูตาในฐานะผู้นำของธุรกิจดิจิตัล เพย์เมนท์ ระดับโลก

แม้ว่าก่อนหน้านี้ บริษัทจะถูกเปิดโปงโดยสื่อแถวหน้าอย่าง Financial Times ถึงธุรกรรมทางบัญชีที่ไม่ชอบมาพากลในเอเซีย แต่ทางการของเยอรมัน องค์กรชั้นนำ สถาบันการเงิน นักวิเคราะห์ รวมถึงนักลงทุนรายใหญ่ก็ยังคงดาหน้าออกมาปกป้องบริษัท โดยราคาหุ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ ก็ยังอยู่สูงถึง 92.13 ยูโร ก่อนจะปรับลดลงเหลือต่ำกว่า 3 ยูโรในที่สุด  

ดูเหมือนว่ายุคนี้ ภาพลักษณ์ที่ดูดี จะหลอกได้แม้กระทั่งภาครัฐ สถาบันการเงิน รวมถึงผู้สอบบัญชี กันแล้ว