โมเดลบริหารน้ำ “อมตะซิตี้” ต้นแบบรีไซเคิลน้ำเสียใน EEC

โมเดลบริหารน้ำ “อมตะซิตี้” ต้นแบบรีไซเคิลน้ำเสียใน EEC

“น้ำเสีย”กำลังจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังมีลักลอบของโรงงานแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คูคลองสาธารณะ ขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเต็มกำลัง เพื่อรองรับการเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะเกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เมื่อการพัฒนาเต็มรูปแบบในอีก 20 ปี หรือปี พ.ศ.2580 จะทำให้EEC ซึ่งประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กลายเป็นพื้นที่เดียวของไทยที่จะมีผู้คนอพยพเข้ามามหาศาล ยังไม่รวมประชากรที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือปัญหาขาดแคลนน้ำที่รุนแรง หากไม่เร่งจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ในวันนี้

เมื่อมองข้อดีของ “น้ำเสีย” ที่จะเข้ามาเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของ EEC จากประสบการณ์ในช่วงเกิดวิกฤติแล้ง เมื่อปี 2548 ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ตื่นตัวในการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง และอาจเรียกได้ว่าเป็นรายแรกๆ ที่มองเห็นคุณค่าและศักยภาพของ “น้ำเสีย” นำมาบำบัดหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทดแทนแหล่งน้ำจากธรรมชาติหรือน้ำประปา

พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยมีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน เส้นทางคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางบกและทางทะเล ล้วนเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทว่าความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นมากถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ในปี 2580 จึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก

"สำหรับนิคมอมตะฯ มีการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง จนก้าวข้ามวิกฤตการขาดแคลนน้ำไปแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี 2548 ทั้งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน การรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การสร้างสมดุลของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy System) และหลักการ 3 Rs สร้างศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ เพื่อเผยแพร่ความรู้ "

หลักการ 3Rs (Reduce Reuse and Recycle) และกระบวนการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ตามรูปแบบที่ดำเนินการอยู่จะส่งผลโดยตรง ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำ การจัดการน้ำเสีย และลดการแย่งชิงน้ำกับชุมชนในปีวิกฤตภัยแล้ง รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งน้ำ เกิดจากกระบวนการจัดการน้ำเสียที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้รองรับกับระบบกรองRO(Reverse Osmosis Membrane) จึงทำให้เกิดประโยชน์ทั้งการประหยัดน้ำ และการจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง

ปัจจุบันนิคมฯอมตะ มีระบบบำบัด รีไซเคิลน้ำเสีย 5 สถานี มีกำลังการผลิตน้ำเสีย 35,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 13 ล้านลบ.ม.ต่อปี สามารถประหยัดหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำได้ถึง 35-40% หรือเท่ากับการนำน้ำดิบ 1 ลบ.ม. มาใช้ได้เท่ากับ 1.4 ลบ.ม. นอกจากนี้ อมตะฯ ยังได้นำระบบการบริหารจัดการน้ำไปใช้กับนิคมฯ ในประเทศเวียดนาม พม่า และลาว อีกด้วย

การบริหารจัดการน้ำที่มีความมั่นคงและยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และการตัดสินใจของนักลงทุนในพื้นที่EECเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้เติบโต ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน เป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การวิจัยเบื้องต้น พบว่า ในปี 2563 พื้นที่ EEC มีนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการประหยัดน้ำ โดยได้ดำเนินการโครงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีและระยอง ประมาณ 40%และที่มากกว่า15%ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา, นิคมอุตสาหกรรมWHAตะวันออก,นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น นอกจากนี้ผลการสำรวจ พบว่า ประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากในพื้นที่EECมีศักยภาพในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า15%อาทิ กลุ่มสิ่งทอมีศักยภาพประหยัดน้ำได้15-49.5%,กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีศักยภาพประหยัดน้ำได้15-37%,กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะและยางประหยัดน้ำได้ 18-55%, กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ประหยัดน้ำได้ 16-34%, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประหยัดน้ำได้ 15-18%และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประหยัดน้ำได้ 15%

มุมมอง น้ำเสียจากนี้ จะเปลี่ยนไป เมื่อน้ำเสีย จะกลายเป็นแหล่งน้ำจืดในอนาคต เทคโนโลยีการจัดการน้ำตัวช่วยในการยกระดับน้ำเสียให้เป็นน้ำใส การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ คือความหวังของอุตสาหกรรม เพราะโอกาสของ EECอยู่ที่ความมั่นคงด้านน้ำ

โดย... วารีวิทยา