โฉมหน้า CSR หลังโควิด

โฉมหน้า CSR หลังโควิด

ประเด็นวิกฤติโควิด ทำให้องค์กรในภาคธุรกิจ ต่างออกมาร่วมช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การบริจาค

กระทั่งถึงการปรับสายการผลิตเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกัน คัดกรอง และลดการระบาดของโรค จนทำให้ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด

การถอดบทเรียนความช่วยเหลือขององค์กรธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ใช้การบริจาคนำในแบบ Corporate Philanthropy ด้วยการมอบเงิน เวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ (เป็น CSR-after-process) กับกลุ่มที่นำ Core Business ขององค์กร มาใช้ในการช่วยเหลือ (เป็น CSR-in-process)

สำหรับความช่วยเหลือในรูปของการบริจาคเงิน เวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ ในแบบ Corporate Philanthropy ในช่วงสถานการณ์ มีให้เห็นอยู่ในทุกองค์กรธุรกิจที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ

ส่วนตัวอย่างของการนำ Core Business ขององค์กร มาใช้ในการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์ ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ไทยวาโก้ และซาบีน่า มีการปรับสายการผลิตชุดชั้นในมาผลิตหน้ากากอนามัย ในกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง เอสซีจี มีการนำเทคโนโลยีการสร้างบ้าน SCG Heim มาสร้างห้องตรวจและคัดกรองโควิด-19 ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี จีซี มีการนำนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและพลาสติกของบริษัทมาผลิตชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ในช่วงสถานการณ์โควิด จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหรือจัดลำดับความสำคัญใหม่ เนื่องจากรูปแบบกิจกรรม CSR ที่ดำเนินอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่สามารถตอบโจทย์และรองรับกับสถานการณ์ได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรต้องการช่วยเหลือ

ทำให้กิจกรรมเพื่อสังคมในรูปของการบริจาคช่วยเหลือชุมชน อาจต้องหันมาเน้นที่การดูแลปกป้องพนักงาน การช่วยเหลือดูแลผู้ส่งมอบและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจที่ถูกกระทบ หรือการปรับตัวตามสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์

สำหรับการขับเคลื่อน CSR หลังสถานการณ์โควิด จะมีทิศทางที่ถูกกำหนดเป็นกรอบการดำเนินงานภายใต้ 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน โดยมีแนวปฏิบัติทางธุรกิจ (Business Practices) ที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่รับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน เป็นต้น

แนวปฏิบัติทางธุรกิจดังกล่าว จะไปเกื้อหนุนปัจจัยด้านสุขภาพ (Health Determinants) โดยรวม และยังก่อให้เกิดผลลัพธ์ทั้งทางธุรกิจ (Business Outcomes) และทางสุขภาพ (Health Outcomes) ในเชิงบวก ซึ่งจะส่งผลกระทบไปสู่การตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Impact) ทั้งในระดับเป้าหมาย (Targets) และตัวชี้วัด (Indicators) อาทิ รายจ่ายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน (SDGs 3.8, 8.8) การลงทุนชุมชน (SDGs 17.17.1) ฯลฯ

สถานการณ์โควิด ได้ทำให้โฉมหน้า CSR ขององค์กรธุรกิจ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเรื่องวัฒนธรรมสุขภาพ จะเป็นประเด็นสาระสำคัญในกระบวนการวิเคราะห์สารัตถภาพเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กร และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) ของกิจการ