ขวากหนามของ SME ในยุคโควิด

ขวากหนามของ SME ในยุคโควิด

พรก. เงินกู้ช่วย SME 500,000 ล้านบาท: ลูกค้าเดิมไม่มีทางเลือก ลูกค้าใหม่ไม่มีที่ไป ธุรกิจที่เดือดร้อนเข้าไม่ถึง

การแพร่ระบาดของโรคCOVID-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งทางด้านสุขอนามัยและทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิตการบริโภคในหลายสาขา ความอ่อนแอและความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยา

หนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย คือความช่วยเหลือภายใต้ “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบ หรือ พรก. SME โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้กำกับดูแล สรุปสาระสั้นๆ คือ ธปท. ให้สถาบันการเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 % ต่อปี มีระยะปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน

การที่ ธปท. เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการภายใต้ พรก. นี้ สร้างความมั่นใจให้สังคมในระดับหนึ่งเนื่องจากวางใจในความสามารถและธรรมาภิบาลขององค์กร ธปท. เป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมีธรรมาภิบาลและความเชี่ยวชาญชำนาญ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายละเอียดของระเบียบและการดำเนินการ โดยเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของ พรก. ฉบับนี้แล้ว ทำให้มีข้อกังวลหลายประการดังนี้ 

1.ลูกค้าเดิมไม่มีทางเลือก

เหตุที่ลูกค้าไม่มีทางเลือก เพราะระเบียบระบุว่าวงเงินที่ให้กู้ต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 และวิสาหกิจที่จะขอกู้จะต้องมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท นั่นหมายความว่าผู้กู้จำเป็นจะต้องเป็นลูกค้าเดิม

ดังนั้น หากเจ้าหนี้สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม หรือคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ผู้กู้จะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทางเลือกที่จะเปลี่ยนไปขอกู้จากสถาบันการเงินอื่นไม่มี นอกจากจะมีประวัติที่สถาบันการเงินอื่นอยู่แล้วเท่านั้น

เรื่องนี้อาจมีข้อถกเถียงว่า SME ประมาณ 90% เป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะให้ธนาคารเดิมเป็นผู้ดูแล แต่เงื่อนไขของการอนุมัติเงินกู้และการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมนั้น เป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดให้แก่เจ้าหนี้หรือธนาคารพาณิชย์

จริงอยู่ การกู้จากธนาคารเดิมมีความสะดวก ความสัมพันธ์ที่ดีอาจมีอยู่แล้วและการรู้จักลูกค้า (know your customer) ทำให้ลดต้นทุนในการติดต่อ (transactions cost) แก่ทั้ง 2 ฝ่าย แต่เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ลูกค้าหมดหนทาง ขาดทางเลือก ขาดอิสระที่จะหาแหล่งกู้อื่น และไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ การดำเนินการลักษณะนี้ไม่น่าจะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการช่วยเหลือ หรือส่งเสริมให้สถาบันการเงินสร้างความแข็งแกร่ง

2.กู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 % จริงหรือไม่

เนื่องจากลูกค้าที่ต้องการกู้ไม่มีอำนาจต่อรอง ปัญหาจึงเกิดได้ง่าย จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ พบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากระบุว่าต้องเสียอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 3-4% เมื่อ ธปท. กวดขันเรื่องดอกเบี้ย ลูกหนี้จำนวนหนึ่งก็ระบุว่า จำเป็นจำยอมต้องทำสัญญาเงินกู้โดยเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ทั้งๆ ที่ ธปท. ระบุชัดว่าสถาบันการเงินจะคิดค่าธรรมเนียมไม่ได้ สถาบันการเงินเองก็ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากการให้กู้ยืมเงินตามมาตรการใน พรก. นี้

ผู้ประกอบการหลายรายตอบแบบสำรวจว่าไม่สามารถกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท ตั้งไว้คือ 2% ต่อปี เพราะสิ่งที่ผู้กู้จะต้องเสีย ยังมีค่าธรรมเนียมการจัดการให้กู้ เบี้ยประกันชีวิต ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และ ค่าจัดการการค้ำประกันอีกด้วย ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท. รวมแล้วอาจกลายเป็นดอกเบี้ยสูงถึง 20% ต่อปี

แม้ว่า ธปท. จะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยทุกสัปดาห์ ว่าได้มีการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการใด เป็นจำนวนเงินเท่าไร อัตราดอกเบี้ยเท่าใด เป็นระยะเวลาเท่าใด แต่การรายงานนั้นไม่ครอบคลุมถึงรายละเอียดที่มิได้อยู่ในการดูแลของ ธปท. เมื่อมีผู้ท้วงติงก็จะได้รับคำตอบจากธนาคารพาณิชย์ว่าเป็นไปตามสัญญาที่ต่างฝ่ายต่างยินยอม

อนึ่ง หากการปล่อยกู้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พรก. ผู้กู้จะต้องเป็นผู้ร้องเรียนเอง ซึ่งน่าจะมีผลเสียต่อการขอกู้จากธนาคารในวาระต่อไป หลายรายจึงตัดปัญหาโดยไม่ร้องเรียน ยอมจ่าย หรือว่ายอมไม่ยื่นขอกู้ 

3.ธุรกิจที่เดือดร้อนเข้าไม่ถึง

พรก. SME ระบุชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคCOVID-19 โดยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจในลักษณะของการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ชะลอการชำระหนี้

อย่างไรก็ดี การกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบวิสาหกิจที่จะได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นลูกค้าเดิมของสถาบันการเงินและไม่มีหนี้เสีย (NPL) ทำให้ผู้ประกอบวิสาหกิจหลายรายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ แม้ว่าจะเป็นลูกค้าเดิมก็ตาม สถาบันการเงินอาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจซึ่งอาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พรก.

จริงอยู่ การปล่อยกู้ให้เฉพาะลูกค้าชั้นดี เป็นสิ่งที่มีเหตุผล เพื่อลดความเสี่ยงของเจ้าหนี้และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่วัตถุประสงค์ของ พรก. นี้ก็คือการให้ความช่วยเหลือ จำเป็นต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างการให้ความช่วยเหลือและการรักษาเสถียรภาพ เพราะหากเศรษฐกิจไม่ฟื้น เสถียรภาพก็ไร้ความหมาย คาดว่า ปัจจุบันหนี้ของ SME กว่า 1 ล้านราย มีมูลค่าหนี้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะปล่อยกู้ได้ครบ 5 แสนล้านบาท ก็เป็นจำนวนที่ไม่เพียงพออยู่ดี และตัวเลขสินเชื่อที่ปล่อยได้จริงขณะนี้ยังไม่ถึง 1 แสนล้านบาท หรือ 20% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ด้วยซ้ำ

4.ลูกค้าใหม่ไม่มีที่ไป

ธุรกิจสองกลุ่มไม่มีที่ไป คือ SME ที่ไม่เคยกู้ ซึ่งมีอยู่ 10% และธุรกิจรายใหม่ที่ต้องการทุน

การกำหนดระเบียบและเงื่อนไขให้ผู้กู้ต้องเป็นลูกค้าเดิม ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการเพราะประเมินลูกหนี้ได้จากประวัติเดิม แต่ในการลงทุนใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนให้กู้ หรือลงทุนประกอบกิจการ ประวัติเดิมเป็นเพียงองค์ประกอบเดียว เป็นเพียงแนวทางที่ช่วยในการพิจารณาความคุ้มทุน  สิ่งที่สำคัญกว่าคือศักยภาพและความสามารถในการสร้างมูลค่าและประสบความสำเร็จในอนาคต

ระเบียบที่กำหนดให้ผู้กู้นั้นเป็นลูกค้าเดิม (ชั้นดี) เป็นการตัดโอกาสของ  SME ที่ไม่เคยกู้มาก่อนแต่โดนผลกระทบจากการระบาดของโควิดอย่างเฉียบพลันจนขาดสภาพคล่อง และ SME ใหม่ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ภาวะสังคมเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โรคระบาด  วิกฤตเศรษฐกิจ ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ ตลอดจนภัยคุกคามจากการเผชิญหน้ากันของมหาอำนาจ ล้วนต้องการนวัตกรรมจากนักคิดที่สร้างสรรค์สามารถคิดนอกกรอบ แหวกแนวไปจากแนวปฏิบัติเดิมๆ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มนักประดิษฐ์เล็กๆ ลักษณะ startup  ที่ยังไม่มีทุนทรัพย์  วิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้โลกเรียกหากระบวนทัศน์การพัฒนาชุดใหม่ ที่เน้นความยั่งยืนของธรรมชาติ อนุรักษ์ป่าฝน ไลฟ์สไตล์รักษ์โลก สร้างความคุ้มกันจากโรค แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ สินทรัพย์และโอกาส  ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการผลิตและรังสรรค์นวัตกรรม

เข้าใจได้ ว่ามาตรการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยนั้น ต้องคำนึงถึงความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการเงินด้วย มิให้มีหนี้เสียมากจนเกินไป    การประเมินโครงการ การตรวจสอบโครงการ การประเมินความเสี่ยงก็ย่อมต้องกระทำอยู่แล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นลูกค้าเดิม

มีข้อถกเถียงว่า หากไม่จำกัดการปล่อยกู้ให้เฉพาะ SME ที่เป็นลูกค้าเก่า จะทำให้มี “SME จัดตั้งที่มาหลอกรับเงิน แต่การตรวจเรื่องนี้ไม่น่าที่จะเกินความสามารถของธนาคารพาณิชย์ที่จะประเมินและป้องกันได้  โดยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในการประเมินโครงการประเมินแผนงาน เช่น จากประวัติผู้จดทะเบียน SME ความเป็นไปได้ทางเทคนิคและทางด้านการเงิน และในภาวะปัจจุบัน อาจผนวกเรื่อง intangibles ต่างๆ เช่น นอกจากลงทุนไปแล้วสร้างรายได้คุ้มหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มแต่เป็นไปตามหลักการที่ว่า ขาดทุนคือกำไรคือต้องยอมก่อนเพื่อสร้างคน พัฒนาคน ได้หรือไม่  เป็นครั้งแรก ที่โลกการเงินให้ความสำคัญอย่างจริงจัง กับเรื่อง สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาล ในการประกอบธุรกิจ (environmental, social and governance: ESG)  ปัจจัยเหล่านี้ ควรเป็นองค์ประกอบในการประเมินโครงการหรือไม่ และตีมูลค่าประโยชน์และต้นทุนความเสียหายจากโครงการออกมาชัดๆ เหมือนที่อุตส่าห์เรียนกันในห้องเรียน

จริงหรือไม่ ว่าลูกค้าเก่าก็ต้องเคยเป็นลูกค้าใหม่ในอดีต ซึ่งก็ต้องผ่านการประเมินศักยภาพจากข้อมูลที่มีและการคาดการณ์ในอนาคต งบประมาณ  500,000 ล้านบาท ธปท. คิดดอกเบี้ย 0.01% ให้ปล่อยกู้ 2% มีส่วนต่างเป็นค่าบริหารจัดการเกือบ  10,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอสำหรับประเมินโครงการของผู้ประกอบการรายใหม่ที่ไม่เคยกู้มาก่อน และหากเกิดความเสียหาย รัฐก็ยังชดเชยให้ตามที่กล่าวมาแล้ว และหลังจาก 2 ปี ก็ยังสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้

นอกจากนี้ ระเบียบยังกำหนดให้สถาบันการเงินได้รับเงินชดเชยจากรัฐในส่วนที่สถาบันการเงินไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากวิสาหกิจในช่วง 6 เดือนแรก และได้รับเงินชดเชยหากสถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้ผู้ประกอบวิสาหกิจกู้  ไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตาม พรก. กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกินห้าสิบล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และ 60% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตาม พรก. กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกินห้าสิบล้านบาทขึ้นไป ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 การที่รัฐแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ก็เป็นประโยชน์แก่สถาบันการเงิน

การปล่อยกู้ให้ลูกค้าใหม่ได้ ยังอาจเป็นโอกาสที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น หลายธุรกิจเกรงเรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ยุ่งยากและเรื่องเสียภาษี แต่ถ้าหากว่ายกเว้นเรื่องนี้ไปช่วงหนึ่ง และให้เริ่มเสียภาษี  15% เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว  ก็น่าจะได้ธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลมากขึ้น  ถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ว่า กำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาทก็ได้รับการยกเว้นภาษี และสามารถหักค่าใช้จ่ายของกิจการเป็นพิเศษได้  2 เท่า (เช่น ค่าจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี เป็นต้น) เป็นโอกาสที่จะให้ธุรกิจต่างๆเข้าระบบ

แม้ว่า ธปท. จะออกมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 2 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์และบรรลุวัตถุประสงค์ ของ พรก.  คงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง

การช่วยเหลือกับการรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ซึ่งถ้าหากว่าเศรษฐกิจหยุดชะงักเพราะธุรกิจส่วนใหญ่ต้องปิดกิจการลง เสถียรภาพก็คงไร้ความหมาย

โดย... ดร.สิริลักษณา คอมันตร์