จับตาเกษตรฯขอ 1.5 แสนล้าน เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง 'โควิด'

จับตาเกษตรฯขอ 1.5 แสนล้าน เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง 'โควิด'

เงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่จริงแล้วไม่ใช่เค้กก้อนโตอย่างที่หลายๆ คนคิด

ดูเหมือนทุกหน่วยงานมีความตั้งใจจะใช้เงินดังกล่าว เป็นเครื่องมือเพื่อเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในสายงานที่ตนเองได้รับผิดชอบอยู่อย่างแท้จริง จึงได้เสนอโครงการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)พิจารณาไปแล้ว รวมมูลค่าโครงการกว่า 1.3 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้เสนอขอใช้งบประมาณดังกล่าวไปทั้งสิ้น1.5 แสนล้านบาทภายใต้แผนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)เพิ่มขึ้นจากที่เสนอไปครั้งแรก 9.5 หมื่นล้านบาท

โดยข้อเสนอเป็นการปรับปรุงใหม่ โดยอ้างว่าต้องใส่รายละเอียดที่ยึดความต้องการของชุมชนเป็นที่ตั้ง โดยหน่วยงานที่ขอใช้งบประมาณมากที่สุด ยังเป็นเจ้าเดิมคือกรมชลประทาน กว่า 3 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นทั้งหมดผ่านความเห็นชอบจาก สศช. แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบอีกครั้ง

ในโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาท ดังกล่าว พบว่า มีมากถึง 131 โครงการ แยกเป็น โครงการเพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 261 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชนจำนวน 129 โครงการ วงเงิน 15,065.22 ล้านบาท

ในจำนวนนี้ เป็นข้อเสนอจาก กรมหม่อนไหมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน 1 โครงการ วงเงิน 3 ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 39 โครงการ วงเงิน 478.53 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการเพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 261 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชนจำนวน 37โครงการ วงเงิน 217.28 ล้านบาท

กรมปศุสัตว์ จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 26.04 ล้านบาท กรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 17 โครงการวงเงิน 100.32 ล้านบาท กรมประมง จำนวน 42 โครงการ วงเงิน 264.38 ล้านบาท กรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 17 โครงการ วงเงิน 115.92 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 14.72 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือ 4 โครงการเป็นข้อเสนอจากสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4 โครงการ วงเงินมากถึง 14,323.53 ล้านบาทประกอบด้วย กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 14,315.83 ล้านบาท

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรโครงการเพิ่มศักยภาพและการจัดการธุรกิจไผ่ไม้เศรษฐกิจชุมชนจังหวัดชลบุรี วงเงิน 5.5 ล้านบาท ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการท้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดชลบุรีวงเงิน 1.5 ล้านบาท และ การส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตร ภายใต้โครงการ ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อรองรับการปรับตัววิถีใหม่ วงเงิน 7 แสนบาท

คำถามคือโครงการเหล่านี้ปกติแล้ว หน่วยงานใดหนอควรเป็นผู้ขับเคลื่อน

...หรือจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบNew Normalนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯจึงวางไว้ใกล้ๆตัวเพื่อจะสามารถบริหารจัดการได้โดยสะดวก!