ถึงเวลาไทยเป็นผู้นำโลก?

ถึงเวลาไทยเป็นผู้นำโลก?

การต่อสู้กับโรคร้ายอันเกิดจากไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าเมืองไทยทำได้ดีจนเป็นที่ยอมรับของชาวโลก

ในขณะที่สหรัฐล้มเหลว ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลต่างกันปานฟ้ากับดิน ทั้งที่ไทยไม่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่าสหรัฐ ต้องรอการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีความสำคัญอันดับต้นๆ ได้แก่ 1.รัฐบาลไทยฟังผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์มากกว่ารัฐบาลอเมริกัน ฉะนั้น มาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อโรคจึงเริ่มทำอย่างรวดเร็ว เข้มข้นและเป็นเอกภาพ 2.ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ของไทยอ่านสถานการณ์ได้ทะลุไม่น้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน 3.ไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขจำนวนมากกระจายอยู่ในชุมชนทั่วประเทศที่พร้อมเข้าทำงานทันทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

ข้อสังเกตดังกล่าวนี้ชี้บ่งว่าเราน่าจะคิดต่อไปได้หลายอย่าง การฟังผู้เชี่ยวชาญเป็นข้อคิดหลักซึ่งอาจแยกต่อไปได้อีกหลายด้าน ขอพูดถึงด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ผมมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอยู่บ้าง จริงอยู่ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชี้วัดได้แบบมั่นใจเต็มร้อยว่าเศรษฐกิจถดถอยเท่าไร แต่ค่อนข้างแน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยไม่น้อยกว่าของสหรัฐ ทั้งที่ไทยประสบความสำเร็จสูงในการต่อสู้กับไวรัสเมื่อสหรัฐล้มเหลว

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอยในอัตราสูงได้แก่ ไทยอาศัยภาคการท่องเที่ยวสูงกว่าสหรัฐหลายเท่า ข้อมูลบ่งว่าในปี 2561 เมืองไทยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามากว่า 38 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในสหรัฐ ทั้งที่สหรัฐใหญ่กว่าไทยหลายเท่า กล่าวคือมีประชากรมากกว่าไทยราว 5 เท่าและเศรษฐกิจใหญ่กว่าราว 15 เท่า ความเปราะบางของภาคการท่องเที่ยวเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่รัฐบาลไทยหลายสมัยไม่ฟังจึงดันทุรังพาประเทศเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นมานานและยังหวังจะทำต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยสูงนี้ มีการพูดกันอย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆ ว่าควรจะทำอย่างไรกันต่อไป เท่าที่พอประเมินได้ แทบไม่มีการเสนอให้ปรับแนวคิดแบบถอนรากถอนโคน หรือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการพัฒนา ทั้งที่ถึงเวลาที่ชาวโลกควรทำมาไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว

ทั้งนี้เพราะโลกมีทรัพยากรไม่พอสำหรับสนับสนุนจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ซ้ำร้ายแต่ละคนยังมุ่งบริโภค หรือเสพเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย การพิมพ์หนังสือเรื่อง ระเบิดประชากร” (The Population Bomb) เมื่อปี 2511 และเรื่อง จิ๋วแต่แจ๋ว” (Small Is Beautiful) เมื่อปี 2516 เป็นสัญญาณที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าถึงเวลา ต่อมาพ่อหลวง ร.9 ทรงศึกษาประเด็นนี้อย่างครอบคลุมและทรงเสนอให้เปลี่ยนไปใช้แนวคิดเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นฐานของการพัฒนา (แก่นของแนวคิดมีอยู่ในหนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า 1 ใน 5 องค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงได้แก่ภูมิคุ้มกัน หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไรย่อมเห็นได้จากภาวะปัจจุบันเมื่อต่างชาตินับสิบล้านคนงดมาเที่ยวเมืองไทย ประเด็นเฉพาะหน้าในขณะนี้คือ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองกันว่าจะนำความเสี่ยงสูงมาให้แก่กิจการกสิกรรมขนาดเล็กของไทย กิจการกสิกรรมขนาดเล็กเป็นวิถีชีวิตของชาวไทยในชนบทนับสิบล้านคน ซึ่งผลิตอาหารหลักให้แก่ชาวไทยพร้อมกับส่งขายได้เงินตราต่างประเทศจำนวนมากให้แก่เมืองไทยทุกปี เมื่อข้อตกลงนี้มีความเสี่ยงสูงมาก รัฐบาลจึงไม่ควรเข้าร่วม

 ในระหว่างที่ชาวโลกยังงุนงงอยู่ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป แต่ไทยมีแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแสงสว่างชี้ทางให้เห็นแล้วนี้ รัฐบาลไทยควรเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการพัฒนาโดยหันมาใช้แนวคิดใหม่ที่จะนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนแทนการเดินตามคำแนะนำของนักการตลาดซึ่งไม่มีอะไรมาก นอกเหนือจากแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักเสริมด้วยมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายที่นำความหายนะมาให้หลายประเทศแล้ว

หากทำได้ เมืองไทยจะกลายเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาที่ได้รับการยอมรับในแนวเดียวกันกับการต่อสู้ไวรัสโควิด-19