ข้อเสนอ New Normal (1): วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม “อากาศและน้ำ”

ข้อเสนอ New Normal (1): วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม “อากาศและน้ำ”

ข้อเสนอ New Normal ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งการจัดการน้ำ อากาศ ขยะ และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

ความปกติใหม่ของการจัดการน้ำ

หากพิจารณาเรื่องการจัดการน้ำอาจแบ่งได้เป็นการจัดการส่วนบุคคล และการจัดหาน้ำสะอาดหรือน้ำประปาโดยองค์กรภาครัฐ สำหรับการจัดการส่วนบุคคลนั้นจากการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์การ “ล้างมือบ่อยๆ” ซึ่งได้กลายมาเป็น New Normal ของคนในยุคนี้ ไม่ว่าจะโดยการใช้สบู่ล้างมือ หรือพกแอลกอฮอล์เมื่อเวลาออกนอกบ้าน แต่น้ำประปาไม่ได้มีไว้แค่ล้างมืออย่างเดียว เรายังใช้ล้างผักผลไม้ที่รับประทานสด ล้างจานชามภาชนะใส่อาหารต่างๆ ใช้แปรงฟัน บ้วนปาก ล้างหน้า และอาบน้ำ โดยเฉพาะการอาบแบบฝักบัว ที่ทำให้เกิดละอองฝอย (aerosol) ที่เราอาจสูดดมเข้าไป ดังนั้นหากน้ำประปาปนเปื้อนเชื้อโรคอาจทำให้ผู้ใช้น้ำเกิดความกังวลขึ้นได้ 

แต่ผู้อ่านอย่าเพิ่งกังวล เพราะข้อมูลน่าเชื่อถือต่างๆยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในน้ำประปาแต่อย่างใด โรงผลิตน้ำประปาที่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมจะมีระบบการกรองและฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อโรคที่ติดต่อทางน้ำชนิดอื่นๆ อย่างได้ผล 

ในประเทศไทยกรมอนามัยได้ให้คำแนะนำให้กำหนดค่าคลอรีนอิสระที่หลงเหลือในน้ำประปาในปริมาณมากกว่า 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าดังกล่าวสูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ที่ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร คนไทยจึงมั่นใจได้ว่าน้ำประปาที่มาถึงบ้านของผู้ใช้น้ำจะมีปริมาณคลอรีนอิสระไม่ต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่มากเพียงพอในการทำลายเชื้อก่อโรคชนิดต่างๆ ในน้ำ และการประปายังมีแผนน้ำประปาปลอดภัย ที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ ระบบการผลิตน้ำประปา ไปจนถึงระบบจ่ายน้ำเพื่อควบคุมและลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคที่ติดต่อทางน้ำ 

ทั้งนี้แม้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่ำในการปนเปื้อนทางน้ำก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาสำหรับการจัดการน้ำที่เหมาะสมควรได้รับการเผยแพร่ไปยังหน่วยผลิตน้ำประปารายย่อยในพื้นที่ชนบท หรือในระดับประปาหมู่บ้านด้วยเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพการผลิตน้ำประปาหน่วยย่อยให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้น้ำให้ทัดเทียมกับระบบการผลิตขนาดใหญ่ นอกจากนี้สำหรับการจัดการน้ำเสีย เนื่องจากเริ่มมีรายงานการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังติดต่อได้อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย ผู้เกี่ยวข้องควรหมั่นตรวจสอบระบบท่อรวบรวมน้ำเสียภายในบ้านและภายในอาคารไม่ให้รั่วซึมหรือฟุ้งกระจายมาตามท่อระบายอากาศ และตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการเติมสารคลอรีนอย่างสม่ำเสมอเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยน้ำทิ้งสู่แหล่งรองรับน้ำต่อไป

ความปกติใหม่ของการจัดการคุณภาพอากาศ

เมื่อกรุงเทพมหานครมีการ “ปิดเมือง” จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ข้อมูล Big data ของ Google และ Apple แสดงให้เห็นว่าจำนวนรถบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครลดลงประมาณ 50-60% กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นๆ เช่น ร้านอาหารริมถนน การก่อสร้าง การขนส่งวัสดุ ต่างๆ ก็ลดลง เกิดการลดลงของปริมาณฝุ่นขนาดเล็กในอากาศในบางช่วงเวลา แต่ยังไม่เห็นเป็นที่เด่นชัดและยังพบว่าจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ในบางช่วงเวลามีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กที่สูงเกินค่ามาตรฐานของประเทศไทย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของการสะสมของฝุ่นเกิดจากการที่สภาพอากาศในช่วงเวลานั้นไม่เหมาะแก่การกระจายตัวของฝุ่นขนาดเล็ก แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ปริมาณการจราจรและแหล่งกำเนิดมลพิษอื่นๆ จะลดลง แต่ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กยังคงอยู่และเมื่อปัญหาโควิด-19 ผ่านพ้นไป การกลับมาของฝุ่นและมลพิษอากาศในกรุงเทพมหานครจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.ไปถึงเดือนมี.ค.ของทุกปี การสนับสนุนการทำงานแบบ Work From Home หรือการเหลื่อมเวลาทำงาน สามารถทำให้จำนวนรถบนถนนน้อยลง เป็น New Normal ที่จะส่งผลให้ปริมาณมลพิษทางอากาศลดลงได้อีกด้วยอีกทางหนึ่ง

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ระบบการถ่ายเทอากาศในอาคารบ้านเรือน ควรจะมีการออกแบบและปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก มีมาตรการส่วนรวมในการจัดการคุณภาพอากาศภายในชุมชน ใช้หน้ากากอนามัยในพื้นที่ส่วนรวม ข้อแนะนำเรื่องการจัดการการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสมจาก Centers for Disease Control and Prevention, USA และ Federation of European Heating, Ventilation and Air Conditioning Association ได้เสนอให้ควรมีการแลกเปลี่ยนอากาศภายในและภายนอกอาคารในบางช่วงเวลา โดยนำอากาศสดชื่นจากภายนอก เข้ามาภายในอาคารประมาณ 1-2 เท่าของปริมาตรของห้อง หรือ การเปิดประตูหน้าต่างเป็นบางครั้ง โดยต้องอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศในอาคารดังกล่าว เพื่อช่วยให้เกิดการเจือจางปริมาณสารแปลกปลอมในอากาศในพื้นที่ปิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ สามารถนำแนวทางเหล่านี้ไปพัฒนา เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานบริการที่มีผู้ใช้บริการหมุนเวียนตลอดเวลา

โดย...

ดร. ขวัญรวี สิริกาญจน

ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล

ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล

ดร. จีมา ศรลัมพ์

ดร. ดาว สุวรรณแสง จั่นเจริญ