วิกฤติละตินอเมริการอบใหม่: บทเรียนสำหรับไทยและอาเซียน (จบ)

วิกฤติละตินอเมริการอบใหม่: บทเรียนสำหรับไทยและอาเซียน (จบ)

เกือบทุกประเทศในละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น อาร์เจนตินา เวเนซูเอลา โบลิเวีย บราซิล ปารากวัย เอกวาดอร์ ล้วนมีปัญหาฐานะทางการคลังทั้งสิ้น

แม้นไม่มีการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ไม่มีการล็อคดาวน์ ประเทศเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้และวิกฤติฐานะทางการคลังอยู่ เมื่อเจอผลกระทบโรค Covid-19 หลายประเทศก็ต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจและคนว่างงาน แต่ก็ทำได้อย่างจำกัด ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2009-2019 อาร์เจนตินามีงบประมาณขาดดุลทุกปี ทำให้อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีงบประมาณขาดดุลนานที่สุดในโลก สถิตินี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศไทย แต่ไทยยังมีฐานะทางการคลังที่ดีกว่ามากแม้นจะทำงบประมาณขาดดุลมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีเช่นเดียวกับอาร์เจนตินา แต่มีหนี้สาธารณะโดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศต่ำกว่ามาก จุดแข็งนี้ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษไปกว่าประเทศในภูมิภาค ไทยและอาเซียนโดยรวมนั้นมีความเสี่ยงเรื่องวิกฤติฐานะทางการคลังน้อยกว่าภูมิภาคละตินอเมริกามากพอสมควร แต่แนวโน้มนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้

ประเทศละตินอเมริกาเกือบทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา มีพื้นที่หรือช่องว่างทางการคลังในการดูแลผลกระทบของการหดตัวทางเศรษฐกิจน้อยมาก สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูง มีข้อจำกัดในการเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหนี้สินก็สูง เก็บภาษีก็ไม่ได้ การก่อหนี้เพิ่มในภาวะเศรษฐกิจหดตัวก็ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาหนี้สาธารณะเลวร้ายยิ่งขึ้น

ภาระหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง กดดันให้ค่าเงินสกุลละตินอเมริกาอ่อนค่าลงอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา ส่วนค่าเงินโบลิวาร์เวเนซุเอลาก็ดำดิ่งลงเห็นสัญญาณของโศนาฏกรรมทางเศรษฐกิจรอบใหม่ ค่าเงินเรียลบราซิลก็ย่ำแย่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง

สถานการณ์ในเวเนซุเอลา ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าเพื่อน น่าจะเจอโศนาฏกรรมของความหายนะทางเศรษฐกิจและการเมืองรอบ 2 แน่นอน ในปี 2014 เวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบไปขาย 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อปีที่แล้ว เวเนซุเอลาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบได้เพียง 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 75 ปี แน่นอนที่สุด ในช่วงล็อคดาวน์กันเกือบทั่วโลก อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกทรุดหนัก ราคาน้ำมันดิ่งลง

ทำไมประเทศที่อาศัยรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจนร่ำรวย (สำหรับชนชั้นนำกลุ่มเล็ก) ก่อนหน้านี้ มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมจึงประสบหายนะทางเศรษฐกิจขนาดนี้ เพราะรายได้ไม่เคยถึงมือประชาชนในรูปสวัสดิการของรัฐเลย เพราะไม่มียุทธศาสตร์ในการสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆเลย อาศัยแต่ทรัพยากรที่ธรรมชาติมอบให้

การเมืองก็ถูกผูกขาดด้วยระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน บางประเทศในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1960-1980 มีรัฐประหารมากพอๆ ประเทศไทย กลุ่มทุนข้ามชาติร่วมกับทุนขนาดใหญ่ในชาติผูกขาดเศรษฐกิจ

อย่างกรณีเวเนซุเอลา เมื่อเปิดให้มีการเลือกตั้ง ก็ได้อดีตนักรัฐประหารที่นำเสนอนโยบายชาตินิยมบวกประชานิยมแบบซ้ายจัด “พันเอกฮูโก ชาเวซ” เป็นผู้นำ และเป็นผู้นำแนวประชานิยมจากการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมสูงยิ่งในช่วงสมัยแรก ต่อมาผู้นำที่เคยได้รับความนิยมคนนี้ได้นำพาประเทศไปสู่เส้นทางแห่งความหายนะทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมด้วยการดำเนินนโยบายประชานิยมแบบไม่สนใจวินัยการเงินการคลัง คอร์รัปชันและเล่นพรรคเล่นพวกมากขึ้นตามลำดับ และยังนำประเทศเข้าสู่การเผชิญหน้ากับชาติตะวันตกจนถูกคว่ำบาตรเรื่องการลงทุน คนที่สืบทอดอำนาจอย่าง “มาดูโร” ก็ไร้ความสามารถ แม้นผ่านการเลือกตั้งแต่ก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่า “โกงเลือกตั้ง” หรือไม่

ทำไม ทั้ง “อาร์เจนตินา” และ “เวเนซุเอลา” รวมทั้งประเทศละตินอเมริกาอื่นๆ จึงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเมืองซ้ำซาก ทั้งที่ผ่านยุคเผด็จการทหารครองเมืองมาร่วม 3 - 4 ทศวรรษแล้ว มรดกปาบของระบอบเผด็จการทหารอันกดขี่ของอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา มันส่งผลยาวนานขณะนั้นหรือ หรือเป็นเพราะนโยบายประชานิยมซ้ายจัดแบบไร้ความรับผิดชอบทางวินัยการเงินการคลัง หรือนโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว ขยายความเหลื่อมล้ำให้ถ่างออกของนักเลือกตั้ง

นักการเมืองเจ้าของประชาธิปไตยฉบับละตินต้องรับผิดชอบ

หรือนักรัฐประหารเจ้าของระบอบเผด็จการกดขี่ต้องรับผิดชอบ

หรือประชาชนเจ้าของประเทศต้องรับผิดชอบ

หรือมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา หรือมหาอำนาจอย่างอดีตสหภาพโซเวียตและคิวบา เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศเหล่านี้ต้องร่วมรับผิดชอบ

หรือเป็นเรื่องของเครือข่ายกลุ่มทุนข้ามชาติที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติโดยเหลือเพียงเศษอาหารให้คนในภูมิภาคละตินอเมริกาแบ่งปันกันอย่างไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรม

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ เขาวงกต แห่ง วิกฤตการณ์และการล้มลุกคลุกคลานแห่งละตินอเมริกา

ที่ประเทศไทยและอาเซียนต้องไม่เดินซ้ำรอยความผิดผลาดเป็นอันขาด จึงขอใช้พื้นที่ คอลัมน์พลวัตเศรษฐกิจในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นี้ในการทำความเข้าใจวิกฤติละตินอเมริการอบใหม่และอดีตต้นตอแห่งความล้มเหลวให้ถ่องแท้ ต้องอธิบายกันยาวๆ ครับผม