บทเรียนจากโควิด(1) : ความเสี่ยงของเงินเกษียณ

บทเรียนจากโควิด(1) : ความเสี่ยงของเงินเกษียณ

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เมื่อวันก่อนมีรุ่นพี่คนหนึ่งมาบ่นให้ฟังเรื่องโควิด-19ว่าทำให้รายได้หายไป

ยังทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าอนาคตจะมีความมั่นคงในงานที่ทำหรือไม่ มีตอนหนึ่งแกบ่นให้ฟังว่า ไม่รู้จะต้องเลื่อนอายุเกษียณออกไปหรือไม่เพราะกังวลว่าเงินที่ตั้งใจที่จะเก็บไว้ในยามเกษียณ อาจไม่พอเพราะความผันผวนของตลาดทุน ผมก็เลยตั้งใจจะเขียนเรื่องความเสี่ยงของแผนเกษียณในบทความนี้

เมื่อเราเริ่มต้นวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น เราจะกำหนดจำนวนเงินที่เราต้องการจะต้องมีก่อนเกษียณเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่อเดือนช่วงหลังเกษียณ จากนั้นโปรแกรมก็จะคำนวณเงินที่ต้องเก็บลงทุนต่อเดือนและพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เมื่อเก็บเงิน เงินที่ได้จะมาจากสองส่วนด้วยกันคือ เงินต้นจากการที่เราสะสมรายเดือนบวกด้วยส่วนที่สองคือผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุนซึ่งจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับการเลือกพอร์ตที่ลงทุนว่าเสี่ยงมากหรือน้อย กับภาวะตลาดในช่วงที่ลงทุน ส่วนแรกนั้นไม่ได้มีปัญหาเพราะเรากำหนดเงินลงทุนของเราเอง ปัญหามันเกิดจากส่วนที่สองนี่แหละครับ

โดยปกติตอนที่เราเลือกพอร์ตลงทุนจะพิจารณาจากผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงของพอร์ตนั้นๆ โดยปกติก็จะเรียงลำดับจากพอร์ตที่ค่อนข้างระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงซึ่งก็จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำสุดเพราะเงินส่วนใหญ่จะเน้นไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัยจากการผันผวนของราคา แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับพอร์ตที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น เพราะจะมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นแต่ก็มีความผันผวนของราคาที่มากขึ้น เช่น หุ้น หรือทองคำเป็นต้น

เพื่อทำให้ง่ายขึ้นผมจะลองยกตัวอย่างโจทย์สมมติว่า มีนักลงทุนสามคนที่ต้องการเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้าเหมือนกันและต้องการมีเงินก่อนเกษียณเหมือนกันคือ 10 ล้านบาท แต่สิ่งที่ต่างคือ นักลงทุนสามคนนี้รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน โดยคนแรกรับความเสี่ยงได้ต่ำ คนที่สองรับความเสี่ยงได้ปานกลาง คนสุดท้ายรับความเสี่ยงได้สูงสุด แน่นอนว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนของทั้งสามย่อมแตกต่างกัน คนแรกจะมีผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำสุด เช่น 4% คนที่สองผลตอบแทนที่คาดหวังก็จะสูงขึ้นมาเช่น 8% และคนสุดท้ายจะมีผลตอบแทนคาดหวังที่สูงที่สุดที่ 12%

เมื่อทั้งสามคนอยากได้เงิน 10 ล้านบาทในอีก 20 ปีเหมือนกัน แต่คนแรกรับความเสี่ยงได้น้อยเลยเลือกพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อเทียบกับอีกสองคน แน่นอนว่าต้นทุนของคนแรกก็คือจำนวนเงินที่ต้องนำมาลงทุนในแต่ละเดือนที่ต้องสูงกว่าคนที่สอง และคนที่สองก็ต้องออมต่อเดือนมากกว่าคนที่สาม ถ้าดูแค่นี้ดูเหมือนว่าคนแรกจะเสียเปรียบกว่าอีกสองคน เพราะต้องลงเงินต่อเดือนมากกว่า แต่เราลองมาพิจารณาอีกด้านหนึ่งของการลงทุนกันบ้างนั่นก็คือด้านของความเสี่ยง

เรามักจะคิดว่าเมื่อวางแผนการลงทุนโดยเลือกโปรแกรมและเราก็ลงทุนตามโปรแกรมนั้นทุกๆ เดือนเมื่อครบกำหนด 20 ปีเงินลงทุนของเราก็จะเติบโตขึ้นเป็น 10 ล้านบาทตามที่เราได้คาดการณ์เอาไว้ แต่ในความเป็นจริงนั้นเงินเมื่อครบ 20 ปีจะไม่ได้ 10 ล้านบาทตามที่เราคาดไว้ เพราะการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง และความเสี่ยงหลักๆ ก็มาจากความผันผวนของตลาดทุนที่เรานำเงินไปลงทุน และความเสี่ยงตัวนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เงินเกษียณของเราไม่ได้เป็น 10 ล้านบาทในอีก 20 ปี โดยนักลงทุนคนแรกนั้นพอร์ตที่เลือกจะมีความเสี่ยงที่ต่ำ ถ้าค่าความเสี่ยงนี้วัดเป็นตัวเลข เช่น ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 1.98 นักลงทุนคนที่สองมีค่าความเสี่ยงวัดด้วยตัววัดเดียวกันที่สูงกว่า คือ 7.35 และคนที่สามจะมีค่าความเสี่ยงวัดแบบเดียวกันที่สูงที่สุดคือ 13.27 ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบแบบง่ายๆเงินเกษียณของนักลงทุนคนแรก โดยเฉลี่ยจะวิ่งอยู่ที่ใกล้ๆ 10 ล้านบาทอาจจะต่ำกว่าหรือสูงแต่ก็ไม่มาก ในขณะที่คนที่สองอาจได้รับเงินที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทได้มากกว่า เช่น 8 ล้านบาท ในขณะที่คนสุดท้ายจะมีโอกาสที่จะเหวี่ยงออกจาก 10 ล้านบาทได้มากกว่า เช่น 6 ล้านบาท(แต่ก็มีโอกาสเช่นเดียวกันที่จะได้มากกว่า 10 ล้านบาท เช่น 12 ล้านบาทเป็นต้น) เมื่อพิจารณาด้านความเสี่ยงนี้ก็จะเห็นว่าการที่นักลงทุนคนที่สามมีต้นทุนในการลงทุนต่อเดือนที่น้อยที่สุดแต่ก็มีความเสี่ยงที่เงินเกษียณที่จะไม่ได้ 10 ล้านบาทที่สูงที่สุดในสามคน

ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีสุขภาพที่ดีและโชคดีในการลงทุนนะครับ