วิกฤติละตินอเมริการอบใหม่: บทเรียนไทยและอาเซียน (1)

วิกฤติละตินอเมริการอบใหม่: บทเรียนไทยและอาเซียน (1)

ผมทำนายว่าจะเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ การเมือง สังคมครั้งใหญ่ ในละตินอเมริกา ตลาดการเงินทั่วโลกตอบสนองการReopen Businessในเชิงบวกยกเว้นภาคละติน

ศูนย์กลางแห่งการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ระลอกใหม่จะอยู่ที่นี่ การกลับมาระลอก 2 ของเจ้าไวรัสสายพันธุ์เขย่าโลกอีกรอบ ภูมิภาคเจ็บหนักสุด คือ ละตินอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาจะเป็น บทเรียนสำหรับสังคมไทยและอาเซียนเป็นอย่างดี

คลื่นของผู้คนจำนวนมากจะหนีความอดอยากทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงทางการเมืองและสงครามที่ไม่จบสิ้นมายังทวีปอเมริกาเหนือ กำแพงของลัทธิชาตินิยม ความเกลียดชังทางเชื้อชาติ ถูกขยายใหญ่โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัดทำให้มีผู้อพยพจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะหลุดรอดเข้ามายังดินแดนแห่งโอกาส

“สหรัฐ” ที่กำลังถูกเผาไหม้โดยเปลวเพลิงจากการปะทุขึ้นของปัญหาสะสมจากความเหลื่อมล้ำ การถูกเลือกปฏิบัติโดยกระบวนการยุติธรรมต่อคนผิวสี

กรณีการทำร้ายร่างกาย George Floyd ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่พลิกผันไปสู่การจลาจลรุนแรงครั้งล่าสุด เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อาร์เจนตินาประกาศผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ากว่า 503 ล้านดอลลาร์ โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลอาร์เจนตินาขอขยายเส้นตายเจรจาหนี้สาธารณะไปอีก 10 วัน ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 65,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.067 ล้านล้านบาท แม้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ก็ยังไม่เห็นแสงสว่างสำหรับประเทศนี้

ใน ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) หนี้สาธารณะของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 44% ของ GDP ระดับใกล้เคียงกับประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีนี้ แต่ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) หนี้สาธารณะของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 93% ของGDP หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังสร้างปัญหาอย่างหนักให้อาร์เจนตินา ตอนนี้เรียกได้ว่า อาร์เจนตินาคือ คนป่วยแห่งอเมริกาใต้บางคนอาจไม่รู้ว่า ครั้งหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อาร์เจนตินาเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเพราะอุตสาหกรรมการเกษตรของอาร์เจนตินานั้นเติบโตอย่างมาก จากการที่มีที่ดินอุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศเหมาะแก่ภาคเกษตรกรรมคล้ายประเทศไทยสยามเมืองยิ้มของเรา เรื่องนี้ทำให้ในปี ค.ศ. 1913 หรือ พ.ศ. 2456 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเล็กน้อย อาร์เจนตินาติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรมากที่สุดโลก มาวันนี้ อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศรั้งท้ายของโลกทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวของอาร์เจนตินาต่ำกว่าลำดับที่ 60 ของโลก

ล่าสุด วันที่ 2 มิ.ย.Buenos Aires Times, AFP, Wall Street Journal, CNBC รายงานตรงกันว่า เจ้าหนี้นานาชาติ ไม่พอใจเงื่อนไขของแผนปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่เจ้าหนี้ต้องลดจำนวนเงินดอกเบี้ยจ่ายลง 62% และยืดการผ่อนชำระไป 3 ปี รัฐบาลอาร์เจนตินาขอเลื่อนเส้นตายการเจรจากับเจ้าหนี้นานาชาติออกไปอีกเป็นครั้งที่ 3 เพื่อไปทบทวนข้อเสนอที่เป็นธรรมมากกว่านี้ต่อเจ้าหนี้ จากรายงานภาวะเศรษฐกิจและข้อมูลของ IMF พบว่า อาร์เจนตินามีหนี้สินอยู่ที่ประมาณ 323,000 ล้านดอลลาร์ มีการขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือ 1.6% ของจีดีพี และ IMF คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของอาร์เจนตินาจะหดตัวหรือติดลบราว 2.3% โดยผมเชื่อว่าอัตราการขยายน่าจะติดลบมากกว่าที่ IMF ประเมินไว้มากทีเดียว เพราะการรุมทวงคืนหนี้ของกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติจากรัฐบาลใหม่ที่เพิ่งจะชนะการเลือกตั้ง จะทำให้รัฐบาลใหม่ของอาร์เจนตินามีข้อจำกัดในการผ่อนคลายทางการคลังเพื่อสู้ผลกระทบจากโควิด-19เศรษฐกิจจึงน่าจะติดลบมากกว่า 3% แน่นอน 

ส่วนเศรษฐกิจไทยนั้น IMF มองว่าติดลบประมาณ 4.6% ในปีนี้ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยคาดการณ์ไว้ อัตราเงินเฟ้อในอาร์เจนตินาอาจลดลงจากระดับเฉลี่ยที่ 54% สูงที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี อันเป็นผลมาจากการลดการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (Reduced Monetary financing of the Budget) อาร์เจนตินาเช่นเดียวกับประเทศละตินอเมริกาส่วนใหญ่ที่มีระดับเงินเฟ้อสูงมาก อาร์เจนตินามีเงินเฟ้อสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลกเมื่อปีที่แล้ว

โดยประเทศอันดับหนึ่งคือ เวเนซูเอลา อดีตประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ด้วยการบริหารที่ผิดผลาดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองทำให้อัตราเงินเฟ้อเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 282,972% ประชาชนหนีตายออกนอกประเทศจากพิษเศรษฐกิจมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว ปีนี้ก็อัตราเงินเฟ้อก็คงอยู่ระดับตัวเลขหกหลัก โดยซ้ำเติมด้วยการล็อกดาวน์และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่แน่ใจว่า ตัวเองอยู่ในนรกหรือไม่ 

ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองก้าวหน้าอยู่บ้าง แม้สังคมและเศรษฐกิจจะเหลื่อมล้ำเหลือเกินแต่ก็ไม่ถึงขั้นอดตาย วันนี้กำลังเข้าสู่วังวนแห่งความหายนะทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมรอบใหม่