คำเตือนถึงพนักงาน ทุกระดับในยุค “วิถี Covit 19”!

คำเตือนถึงพนักงาน ทุกระดับในยุค “วิถี Covit 19”!

คำที่ไม่พูดถึงแล้วจะ“ตกยุค!” ทุกวันนี้หลายๆท่านคงจะเห็น อ่าน ได้ยินคำว่า New Normal เฉลี่ยไม่น่าจะต่ำกว่าวันละ 5 ครั้ง

จนแทบจะนอนละเมอถึงคำนี้ทุกคืน เพราะถ้าใครไม่เขียน ไม่พูดถึงเรื่อง New Normal ในวันนี้ จะกลายสภาพเป็นคนที่ตกยุคในทันที! ( อีกไม่กี่วันข้างหน้า แม่ค้าขายหมูปิ้งและเด็กไม่กี่ขวบที่เพิ่งหัดพูด ก็คงจะต้องคุ้นและเริ่มพูดคำว่า New Normal บ้างจะได้ดูเหมือนคนที่“ทันยุค ทันกระแส!”)

New Normal แล้วไง!?

อันที่จริงมันคือการ“ปรับตัว”ให้เข้ากับสภาวะที่ทุกคนบนโลกยังอยู่ในยุค โควิท19 ยึดพื้นที่ อะไรที่เคยทำแล้วอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ก็ต้องเลิกทำหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงาน การทำมาหากิน ให้เหมาะกับสภาพปัจจุบัน จนกว่าสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น จนกลายเป็นรูปแบบวิถีชีวิตที่ต่างจากเดิม และกลายเป็น รูปแบบปกติในสภาวะแวดล้อมใหม่..

ลูกจ้างมืออาชีพทุกระดับ..มีทางเลือกอยู่ 3 ทาง

เขียนเกี่ยวกับเจ้าของกิจการ/ผู้นำองค์กรเกี่ยวกับการปรับตัวในช่วง “วิถีCovit19” ไปหลายตอนแล้ว

ถ้าจะไม่เขียนเกี่ยวกับ พนักงานทุกระดับ ที่ไม่ใช่เจ้าของกิจการที่ยังอยู่ในช่วง วิถีโควิดก็กระไรอยู่..

ลูกจ้างมืออาชีพในที่นี้ หมายถึงทุกตำแหน่งตั้งแต่ระดับสูง (ที่ไม่ใช่เจ้าของกิจการ) ลงมาถึงระดับกลางและระดับปฏิบัติการ มีทางเลือกอยู่ 3 ทางนับจากวันนี้เป็นต้นไป...

ทางเลือกที่ 1. ชีวิตเหมือนเดิม จะเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนอะไรกันนักกันหนา!

พนักงานทุกระดับที่เลือกทางเลือกนี้ มีอย่างเดียวที่เปลี่ยนแปลงในยุคโควิดครองเมือง คือ ใส่หน้ากากมาทำงาน(เพราะสถานที่ทำงานบังคับ!)

พนักงานทุกระดับที่เลือกทางเลือกแรกนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่มีประสบการณ์ Work From Home มาบ้างแล้ว (โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง) แต่เมื่อเริ่มกลับเข้ามาทำงานตามปกติ หรือกลับมาทำงานสลับกับการ Work From Home เพราะสถานการณ์ไวรัสยังคงปกคลุมอยู่

พนักงานกลุ่มนี้จะมีบางส่วนที่ “พยายามสุดชีวิต” ที่จะ “คิดและทำเหมือนเดิม” ไม่คิดจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดและปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์

พนักงานทุกระดับกลุ่มนี้ ทั้งทัศนคติและทักษะ ยังยึดติดกับรูปแบบการคิดการปฏิบัติแบบเดิม ไม่เคยเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน และหวังแบบลมๆแล้งๆว่า เดี๋ยวทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิม ใช้ชีวิต ใช้ความเฉื่อย ความเนือยในการทำงานเหมือนเดิม..

พนักงานทุกระดับที่เลือกทางเลือกแรกนี้ จะกลายเป็น “พนักงานกลุ่มแรก” ที่ต้องถูกตัด (ให้ออก) ออกจากหน่วยงานและบริษัท เมื่อถึงเวลาที่บริษัทต้องสลัดภาระเพื่อให้บริษัทอยู่รอดและก้าวไปข้างหน้าได้!

ทางเลือกที่ 2. ชีวิตต่างจากเดิมบ้าง ตามที่บริษัทกำหนด!

พนักงานทุกระดับที่เลือกทางเลือกที่สอง นอกจากใส่หน้ากากออกนอกบ้านและใส่เข้าสถานที่ทำงานก็ไม่ได้คิดจะปรับเปลี่ยนอะไรมาก บริษัทหรือหน่วยงานให้ปรับตัวให้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะต้องใช้มากขึ้นในการทำงาน ก็เรียนรู้“ตามสั่ง”ไม่ได้ตั้งใจให้เต็มที่

พูดง่ายๆ สั่งให้ทำก็ทำ แต่ไม่คิดที่จะทำหรือต่อยอดให้ดีขึ้นให้ต่างจากเดิมอย่าง “เห็นได้ชัด!”

ตัวอย่างเช่นในสภาวะที่การเรียนรู้แบบฝึกอบรมรูปแบบเดิมที่จัดในห้องฝึกอบรมนั่งรวมกันหลายสิบคนยังไม่สามารถทำได้ในช่วงไวรัสยังระบาด

บริษัทจัดให้เรียนรู้ผ่าน zoom หรือ application อื่นๆตามที่บริษัทจัดหามาให้ เรียนรู้แบบเจอหน้าเจอตาวิทยากรผ่านหน้าจอ Notebook แทนที่จะตั้งใจเรียนรู้ให้มากขึ้นเพราะการเรียนรู้แบบนี้ประสิทธิภาพจะยังไม่มากเท่าแบบเดิมเพราะความไม่คุ้นชินของทั้งผู้สอนและผู้เรียนรู้

แต่กลับเรียนรู้แบบตามสั่งไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ขวนขวายที่จะต่อยอดด้วยตนเองเพิ่มเติม ทำได้แค่ว่านอนสอนง่ายแต่ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้น ให้ทำอะไรก็ทำ แต่ไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้ตนเองเพราะไม่คิดจะพัฒนาตนเอง!

พนักงานที่เลือกทางเลือกที่สองนี้ ไม่ต้องแปลกใจที่จะไม่มีโอกาสเติบโตไปกว่าที่เป็นอยู่ อันที่จริงต้องพูดว่ายังมีงานให้ทำก็บุญแล้ว และจะเป็นกลุ่มที่สองที่ต้องจากไป เมื่อบริษัทเห็นว่าเป็นภาระในระหว่างที่หน่วยงานและบริษัทพยายามปรับตัวให้อยู่รอดหรือรุ่งในอนาคตอันใกล้นี้!

ทางเลือกที่ 3. คนเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม!

พนักงานทุกระดับที่เลือกทางเลือกที่สาม จะเป็นพนักงานที่นำพาธุรกิจและบริษัทให้รอดและต่อยอดไปได้อย่างดีด้วย ตัวอย่างเช่น

กลุ่มผู้บริหารระดับสูง (ที่เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่เจ้าของบริษัท) จะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ช่องทางสร้างรายได้ใหม่ในการทำธุรกิจ แล้วเสนอเจ้าของบริษัท ถ้าได้รับการอนุมัติแล้วทดลองทำแล้วเห็นผลดี ผู้บริหารมืออาชีพคนนี้จะกลายเป็นผู้พลิกเกมที่โดดเด่นในบริษัทนั้นๆทันที!

กลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่เป็นลูกจ้าง หลังจากได้เรียนรู้จาก Work From Home แล้ว ก็ค้นพบแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารงาน ลดขั้นตอนไร้สาระ ซ้ำซ้อนที่เคยทำแล้วเสียเวลา เสนอแนวทางใหม่ๆในการบริหารงานให้กับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของพิจารณา ถ้าเป็นไปได้ด้วยดี.. ก็จะเป็นผู้สร้างแนวทางใหม่ๆในการบริหารงานให้กับหน่วยงานและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและโดดเด่น!

ส่วนพนักงานระดับปฏิบัติการ.... ถ้าอยากอยู่อย่าง“มีอนาคต หรือโดดเด่น” ให้พยายามเรียนรู้เทคโนโลยีที่เป็นแนวโน้มที่บริษัทจะนำมาใช้ ให้พยายามพัฒนาทักษะใหม่ๆให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ให้เลิกคิดเลิกปฏิบัติแบบเดิมๆ ที่ไม่เหมาะกับสภาวะปัจจุบัน ก็จะไปได้ดี

ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือ New Normal สำหรับ ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง และระดับปฏิบัติการ ที่ควรจะเป็น ไม่ใช่แค่เห็นและได้ยินแล้วเกาะกระแสขอพูดขอเขียน New Normal กับเขาบ้างโดยที่ยังคิดยังทำเหมือนเดิมครับ!