รื้อใหม่แผนพลังงานหลังพ้นโควิด-19

รื้อใหม่แผนพลังงานหลังพ้นโควิด-19

'โควิด-19' กลายเป็นวิกฤติรอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงาน และกำลังจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานของประเทศในไม่ช้า

สนธิรัตน์ สนธิจรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า ภารกิจของกระทรวงพลังงานที่ต้องเหนื่อยมากขึ้น คือ การ “รื้อนโยบายเก่า” มาดูทั้งหมดว่ายังเหมาะสมหรือไม่ กับสถานการณ์หลังโควิด-19 เพราะโควิด-19 ทำให้ภาพการใช้พลังงานทั่วโลกและไทยเปลี่ยนไป โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หายไป ซ้ำเติมด้วยราคาน้ำมันและก๊าซฯเข้าสู่ช่วงขาลง ทำให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันฯในประเทศ มีผลการดำเนินงานไตรมาส1/63 ขาดทุนสต็อกน้ำมันหลายหมื่นล้านบาท

ดังนั้น หากดูจากภารกิจสำคัญที่เดิมมีแผนจะต้องดำเนินการในปีนี้ แต่คงจะต้องหยิบยกขึ้นมาทบทวนใหม่ อาทิ โครงสร้างน้ำมัน แม้ว่า “สนธิรัตน์” จะยืนยันเดินหน้าผลักดันน้ำมัน 2 ชนิด คือ ดีเซล บี10 และแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นเกรดพื้นฐานกลุ่มดีเซลและกลุ่มเบนซิน แม้ดีเซล บี10 จะดันเต็บสูบไม่รีรอ

แต่ในส่วนของ อี20 ยังต้องรอจังหวะที่เหมาะสมหลังพ้นโควิด-19 ซึ่งแผนเดินกระทรวงพลังงาน จะดำเนินการในไตรมาส3/63 ก็ต้องดูว่าจะเลื่อนระยะเวลาออกไปอย่างไร แต่การจะส่งเสริมให้เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานได้สำเร็จนั้น ยังจะต้องพิจารณายกเลิกน้ำมันบางชนิดด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีน้ำมันมากถึง 9 ชนิด

ฉะนั้น ช่วงครึ่งปีหลังนี้ ก็อาจจะเห็นการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันบางชนิด เช่น กลุ่มดีเซล มีแนวโน้มยกเลิก ดีเซล บี20 ส่วนกลุ่มเบนซิน อาจยกเลิก แก๊สโซฮอล์91 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ก็จะช่วยให้ผู้ค้าน้ำมัน ลดภาระค่าเช่าถังเก็บและการลงทุนหัวจ่ายหน้าปั๊มลงได้ 

โครงสร้างก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) เรื่องนี้ “สนธิรัตน์” สั่งการไปแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรื้อโครงสร้างNGV ทั้งระบบให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และนำมาเสนอที่ประชุม กบง. เป้าหมายเพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างราคาซึ่งการส่งเสริมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังต้องควักงบประมาณสนับสนุนจาก ปตท.และผู้ใช้บริการรถสาธารณะที่เติมก๊าซฯNGV ต้องได้รับประโยชน์ด้วย

โครงสร้างก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเดิมปีนี้ มีแค่ กฟผ.ที่รับนโยบายLNG Shipperได้สิทธินำเข้าลำที่ 2 อีก 6.5 หมื่นตัน แต่ล่าสุด ปตท.ก็ได้รับมอบให้จัดซื้อ LNG Spot ที่มีราคาถูกเพิ่ม เพื่อนำมาเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟ พร้อมให้เจรจาลดการจัดซื้อก๊าซฯในอ่าวไทย ขณะที่เอกชน ยังรอเก้อที่จะได้รับอนุมัติเป็น LNG Shipper รายใหม่ เพราะติดเรื่องคุณภาพก๊าซฯในระบบท่อ โดย กกพ.เตรียมประเมินผลนโยบายและนำเสนอ กบง.ในเร็วๆนี้ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างกิจการก๊าซฯเสรีในระยะต่อไป

โครงสร้างค่าไฟ โควิด-19 ทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าหายไป ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงขึ้น จนล่าสุด กกพ.ได้สั่งการให้ กฟผ.เจรจาเลื่อนโรงไฟฟ้าSPPที่มีกำหนดCODในช่วงปี63-64ออกไปก่อน ก็ต้องดูว่าจะได้ผลอย่างไร และจะนำไปสู่การปรับแปลี่ยนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าในอนาคตหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟ

ทว่า การปรับนโยบายให้ทันต่อเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ดี หากอยู่บนพื้นฐานยึดประโยชน์ประเทศและผู้ประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ก็ต้องระวังอย่าให้นโยบายพลิกไปพลิกมาจนสับสน หรือสั่นคลอนความเชื่อมั่นรัฐบาลด้วย