Leaving Las Vegas ดื่มรักลาสเวกัสและดื่มเหล้าช่วงโควิด

Leaving Las Vegas   ดื่มรักลาสเวกัสและดื่มเหล้าช่วงโควิด

หนังเก่าตั้งแต่ค.ศ.1995 เรื่อง “Leaving Las Vegas” หรือ “ดื่มรักลาสเวกัส” อาจขึ้นทำเนียบเป็นหนึ่งในหนังดีสำหรับหลายๆ ท่าน

หนังเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของ “เบน” หนุ่มนักเขียนบทในฮอลลีวู้ดที่ติดเหล้าอย่างหนักจนครอบครัวทิ้ง แถมยังโดนไล่ออกจากงานอีก ด้วยความผิดหวัง บวกกับความที่แกเมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความสูญเสียส่งผลต่อสภาพจิตใจให้ยิ่งตกต่ำจนทำให้เขาตัดสินใจย้ายไปลาสเวกัสเพื่อจบชีวิตด้วยการ “เมา” จนตายกันไปข้างหนึ่ง(ไม่ได้พูดเล่นนะครับ แกต้องการเมาให้ตายคาเตียงเลยล่ะ) นิโคลัส เคจ ผู้รับบทหนุ่มเบนในเรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม ด้วยบทบาทเมาที่แสนสมจริง เค้นอารมณ์จนนำพาเรา “ดำดิ่ง” ไปสู่ห้วงแห่งความเศร้าและผิดหวังร่วมไปด้วยกัน

หนังเรื่องนี้ให้บรรยากาศอึมครึมตลอดทั้งเรื่อง และอย่าคาดหวังว่าพระเอกจะกลับตัวกลับใจเลิกเหล้าเป็น “คนดี” ของสังคมนะครับ เพราะพี่แกมีแต่จะเมา และเมาหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วลักษณะโครงเรื่องแบบนี้อาจหาดูในหนังไทยได้ไม่ง่าย ยกเว้นบรรดาหนังสั้นต่างๆ ที่ส่งเสริมให้คนเลิกเหล้า

การหยิบเอาเรื่องเหล้ามาเขียนในตอนนี้เนื่องด้วย มีหลายท่านวิจารณ์ถึงภาวะการระบาดของโควิด-19 ว่าได้เผยให้เห็นสถานการณ์ต่างๆ ที่บ่งชี้ความเปราะบาง ด้านสังคมและเศรษฐกิจของไทย ทั้งความไม่พร้อมด้านการจัดการวิกฤติของรัฐ รวมถึงสวัสดิการรัฐที่ไม่ครอบคลุม ความเหลื่อมล้ำในการปรับตัวเพื่อทำงานที่บ้าน(ไม่ใช่ทุกประเภทงานและทุกธุรกิจสามารถทำงานออนไลน์และที่บ้านได้) ฯลฯ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงคือ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนแห่กัน “กักตุน” สุรา เนื่องด้วยนโยบาย “ควบคุม” การจำหน่ายสุราในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนี้ มันสะท้อนอะไรออกมาได้บ้าง

ถ้าหากมองแบบ นักทฤษฎีสังคมผู้ล่วงลับ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) การสร้างอารยธรรมของสังคมสมัยใหม่นั้นถูกขับเคลื่อนไปด้วยกระบวนการสร้างความเป็นเหตุผล (rationalization) ที่เน้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ก่อรูปขึ้นเป็นความมีเหตุผลแบบเป็นทางการ/มีแบบแผน หรือ “formal rationality” ที่ยังผลให้องค์กรและผู้คนยอมรับการกระทำทางสังคมเพื่อประสิทธิภาพ เทคโนโยลี และผลลัพธ์ที่คาดคำนวณได้

ดังนั้นนโยบาย “ควบคุม” การบริโภคแอลกอฮอล์จึงเป็นสิ่งปกติที่รัฐกระทำเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่กำลังเกิดหรืออาจเกิดขึ้นจากการบริโภคสุรา โดยผ่านกระบวนการสร้างเหตุผลที่มีแบบแผนอย่างวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เผยให้เห็นผ่าน mentality ของรัฐ โดยเฉพาะองค์กรสาธารณสุขที่คอยบอกพวกเราตลอดว่า สุราเป็นสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพและยิ่งบริโภคเข้าไปก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะทำให้ “โง่ จน เจ็บ” อีกทั้งในสถานการณ์ระบาดของโควิดนี้ มันมีความชอบธรรมมากขึ้นไปอีกในการ “ห้าม” จำหน่ายสุรา นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงเห็นด้วยกับการขยายเวลาของนโยบายห้ามจำหน่ายสุรา เพราะการเสพสุราถูกมองได้ว่าเป็น “สื่อกลาง” ให้ผู้คนมาอยู่รวมกัน อาจทำให้การระบาดควบคุมยาก (และผู้เชี่ยวชาญยังมองอีกว่าการดื่มสุราคนเดียวที่มี social distancing คงเป็นไปได้ยาก เพราะคนดื่มคนเดียวคือคนติดแอลกอฮอล์!) หรือการขายสุรานี้ควรปลดล็อคเป็นสิ่งสุดท้ายเพราะมัน “ไม่จำเป็น” ต่อการดำรงชีพ

ถึงกระนั้น กระบวนการ rationalization ของสิ่งต่างๆ ในสังคมไม่ได้เกิดภายใต้พลังของ formal rationality อย่างเดียวครับ กระบวนการสร้างเหตุผลที่เกิดคู่ขนานกันไปด้วยคือ “substantive rationality” อันเป็นกระบวนการสร้างเหตุผลที่ก่อรูปจากคุณค่าและความเชื่อ ความมีเหตุผลลักษณะนี้เป็นช่วยกำหนดบรรทัดฐานทางสังคมและคอยให้คุณค่าต่อการกระทำและสิ่งต่างๆ ว่าดีหรือไม่ดีในเชิงศีลธรรม เมื่อมองเช่นนี้สุราจึงกลายเป็นสิ่งไม่ดีในเชิง “ศีลธรรม” ด้วย ซึ่งเห็นได้จาก propaganda ต่างๆ ของรัฐประเภท การให้เหล้าเท่ากับ “แช่ง” หรือ เลิกเหล้าเข้าพรรษาเพื่อเป็น “คนดี” ผมมองว่าการมองการกินเหล้าสัมพันธ์กับความดี (หรือไม่ดี) แบบนี้ที่ส่งเสริมให้เกิดกฎทางสถาบันที่ควบคุมโดยสุราแบบตลกๆ และดูไม่ค่อยมีรสนิยม ขนาดที่ว่าดูหนังจีนกำลังภายในยังมีการเซ็นเซอร์ไหเหล้าจนบังฉากวิทยายุทธ หรือบางช่องถึงขนาดมีดูดเสียงคำว่าเหล้าด้วย ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมเป็นอย่างมาก

ประเด็นสำคัญคือกระบวนการ rationalization แบบ substantive rationality ข้างต้น มันไม่ได้มีเอกภาพขนาดนั้น เพราะเหตุผลที่มาจากความเชื่อไม่ว่าจะมาจากศาสนาหรือศีลธรรมโดยธรรมชาติมันเป็นอัตวิสัย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนเชื่อแบบเดียวกันหมด สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างกระบวนการสร้างเหตุผลกับสิ่งที่เป็นจริงของสังคมดูได้จาก ปรากฏการณ์ซื้อสุราเพื่อกักตุนช่วงเก็บตัวที่เป็นไวรัลในสื่อโซเชียล นอกจากนี้ พฤติกรรมทางสังคมที่ปะทะกับ rationalization ที่ควบคุมเหล้า ก็ยังพบเห็นได้ทั่วไปนะครับ เช่น วัฒนธรรมดื่มเหล้าในงานบุญ งานบวช งานศพ เป็นต้น

ที่เขียนมานี่ไม่ได้ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับการดื่มเหล้านะครับ แต่อยากให้ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เราคิดได้ว่า วัฒนธรรมการดื่มสุรา มันเป็นสิ่งที่อยู่กับสังคมและมันก็ไม่ใช่ผู้ร้ายตลอดกาล ไทเลอร์ โคเว่น (Tylor Cowen) ผู้เขียนหนังสือเศรษฐศาสตร์นักกิน ได้วิเคราะห์ว่ามาตรการห้ามขายเหล้าของอเมริกาในช่วง 1920 ถือว่าสร้าง “ยุคมืด” ให้กับวัฒนธรรมอาหารเลยนะครับ เพราะอุตสาหกรรมผลิตแต่อาหารประเภท “TV dinner” (คืออาหารแช่แข็งในกล่องนั่นแหละ) ในขณะที่ความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหารถูกทำลายเพราะร้านที่ขายอาหารที่กินคู่กับไวน์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นเจ๊งกันเป็นแถบ

ดังนั้นสิ่งที่ควรคิดร่วมกันคือเราจะหาทางทำอย่างไรให้เกิดวัฒนธรรมการเสพสุราที่มีความรับผิดชอบและมีอารยะ ทุกวันนี้นโยบายควบคุมสุราที่มีอยู่มันอาจถูกทำนองคลองธรรมตามหลักความดีในแบบศาสนา (เช่น นโยบายห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนา) แต่มันอาจไม่สร้างรูปแบบวัฒนธรรมการดื่มที่รับผิดชอบได้ แบบอย่างในบางประเทศก็ทำให้เห็นแล้วว่าสิ่งนี้ไม่เกินความสามารถที่จะทำ เช่น ในนิวเซาธ์เวลล์ ออสเตรเลีย ที่ให้มีร้านขายเหล้าเฉพาะที่เรียกว่า bottle shop และกำหนดขายตามเวลาชัดเจนคือ 4 ทุ่ม(ส่วนบ้านเราที่ช่วงบ่ายก็ห้ามและกลางคืนก็ห้ามแต่สุดท้ายก็ซื้อขายกันนอกเวลาเป็นปกติ) อีกทั้งยังเป็นเรื่องปกติที่ร้านค้าสามารถปฏิเสธการขายถ้าหากคนซื้อดูเมามาก(ก็ไม่เหมือนบ้านเราอีกที่ยิ่งเมาก็ยิ่งสั่งมาเพียบ) และก็ไม่มีการเซ็นเซอร์แก้วเหล้าแก้วไวน์ให้เสียอารมณ์ดูหนังด้วย

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นอ่อนไหวต้องพูดคุยกันหลายฝ่าย(ถ้าหากจะมีร้าน bottle shop โดยเฉพาะร้านค้ารายย่อยก็อาจเสียประโยชน์ไป) แต่การพูดคุยเพื่อหาฉันทามติร่วมกันนี่แหละครับ เป็นกระบวนการสร้างเหตุผลสำคัญมากกว่าการสร้างเหตุแบบสักแต่ว่าห้ามไปเรื่อยแบบเบ็ดเสร็จ เพราะมันบ่งชี้ว่ารัฐเรียนรู้ไปพร้อมกับภาคประชาชนไม่ใช่เอาแต่ทำหน้าที่สอนสั่งไปเสียทั้งหมด

อีกทางที่ผมว่าทำได้ก็คือ ขอให้ทุกท่านเสพสุราอย่างมีสุนทรียะเพื่อช่วยกันสร้าง new rationalization ในช่วงเก็บตัวกันครับ