โครงการโนบิน: เปลี่ยน “ผู้หางาน” เป็น “ผู้สร้างงาน”

โครงการโนบิน: เปลี่ยน “ผู้หางาน” เป็น “ผู้สร้างงาน”

สถานการณ์โควิดเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่ยังไม่จบสิ้นโดยเร็ว ฉากทัศน์อนาคตที่เริ่มเห็นสัญญาณมาโดยตลอด

คือภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบอย่างสูง หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจส่งผลให้มีคนว่างงานสูงขึ้นถึงหลายล้านคน ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องเร่งมือเตรียมการบรรเทาผลกระทบ การใช้มาตรการช่วยเหลือจ้างงานชั่วคราว การปรับทักษะ ไปจนถึงโครงการลงทุนเพื่อสร้างงานขนาดใหญ่ให้กับประเทศ

นอกจากนี้ เราเห็นถึงแนวโน้มต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วและกำลังกระทบกับคนทำงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติ การใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์อย่างแพร่หลาย

โดยยูวัล แฮรารี คาดว่าในอนาคตอันใกล้ โลกจะเกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมาเรียกว่า“Useless Class” ซึ่งเป็นชนชั้นที่ไม่อาจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมได้เพราะทักษะความรู้ที่มีเป็นสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ทดแทนได้ทั้งหมด

เราจะทำอย่างไรกับคนว่างงานในอนาคต? เป็นหนึ่งในความท้าทายใหญ่

ตัวอย่างที่สนใจ คือ โครงการโนบิน (Nobin Programe) ของมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบล สันติภาพ และผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน ที่เชื่อว่าเราควรเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเรื่องการว่างงานเสียใหม่ เขาได้เขียนไว้ใน A World of Three Zeros ว่าโลกควรเป็น “โลกสามศูนย์” คือ ความยากจนเป็นศูนย์ การว่างงานเป็นศูนย์ และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ยูนุสเชื่อว่าปัญหาว่างงานไม่ได้เกิดขึ้นจากคนว่างงานเอง แต่เกิดขึ้นจากกรอบความคิดผิดที่ฝังอยู่ในหัวว่า เราล้วนแต่เกิดมาเพื่อทำงานให้กับผู้ประกอบการที่โชคดีไม่กี่คน ระบบการศึกษาถูกออกแบบเพื่อสร้างบัณฑิตที่เรียนเพื่อจบออกมาเพื่อไปทำงานให้กับคนอื่น คนหนุ่มสาวไม่ได้รับการบอกกล่าวอย่างจริงจังว่าทุกคนมีทางเลือกที่จะเป็นได้ทั้ง คนที่หางานทำหรือ คนที่สร้างสรรค์งานขึ้นมาเองได้

โครงการโนบิน เริ่มในปี 2001 เป็นแพลต์ฟอร์มที่เปิดกว้างให้โอกาสคนยากจนในชุมชนเป็นผู้ประกอบการใหม่ จากการเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นใหม่เพื่อไปสู่การสร้างงานเพื่อตนเองและผู้อื่นผ่านการเป็นผู้ประกอบการ โดยใช้แคมเปญ “We are not job seekers, we are job creator” คนรุ่นใหม่รุ่นแรกๆ ที่เข้าร่วมมาจากบรรดาลูกของหญิงยากจนที่เคยได้รับเงินกู้จากธนาคารกรามีน

โครงการฯตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าทุกคนมีศักยภาพเพียงพอในการเป็นผู้ประกอบการ สร้างสรรค์ธุรกิจบนความสนใจของแต่ละคน ตอบโจทย์ธุรกิจและความต้องการในแต่ละชุมชน

ยูนุสตั้งกองทุนธุรกิจสังคม (Social Business Fund) เพื่อให้เงินทุน และจัดตั้งห้องปฏิบัติการออกแบบธุรกิจเชิงสังคม(Social Business Design Lab) เพื่อเป็นเวทีในการให้ความช่วยเหลือให้ทุนและนำเสนอแผนธุรกิจ จนถึงปี 2017 มีผู้ประกอบการใหม่เกือบ 17,000 คนที่ผ่านการอนุมัติแผนธุรกิจและได้เงินลงทุนรวม 21 ล้านดอลลาร์ ในธุรกิจเชิงสังคม ซึ่งผู้ประกอบการใหม่สามารถตั้งกิจการที่เป็นธุรกิจทั่วไปหรือธุรกิจเชิงสังคมก็ได้

ลักษณะธุรกิจมักเป็นกิจการขนาดเล็กที่ออกแบบโดยหนุ่มสาวในท้องถิ่น แต่ละกิจการต้องการเงินสนับสนุนเฉลี่ย 1,400 ดอลลาร์ต่อราย มักเริ่มต้นจากผู้ประกอบการคนเดียว หรือจ้างเพิ่มคนสองคนมาช่วยเหลือเมื่อกิจการขยายตัว เช่น กิจการรับเลี้ยงเด็ก ห้องเสื้อ ทอผ้า โรงสีข้าว เสริมสวย เป็นต้น ซึ่งทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เป็นเจ้าของธุรกิจและตอบโจทย์ชุมชน สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับหมู่บ้านทั่วประเทศ

ห้องปฏิบัติการออกแบบธุรกิจเชิงสังคมมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนโครงการ เริ่มต้นจากการเสาะหาระบุคนหนุ่มสาวที่มีศักยภาพตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อติดต่อและไปเยี่ยมเยือนที่บ้าน ศึกษาถึงความฝัน ความกังวล และแรงสนับสนุนจากครอบครัว คนหนุ่มสาว 30-40 คนจะได้รับการฝึกอบรมให้เข้าใจกฎกติกาและกระบวนการ ให้แต่ละรายเสนอแนวคิดทางธุรกิจของตนโดยสังเขป มีการคัดสรรเพื่อนำไปพัฒนาโครงการ เมื่อผ่านการอนุมัติจะมีการฝึกสอนเพื่อนำไปปฏิบัติจริง ทั้งด้านบริหารจัดการ โค้ชชิ่ง จากนั้นจะได้รับเงินทุนสนับสนุน ช่วยเหลือด้านกฎหมาย บัญชี แล้วธุรกิจก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับระบบติดตามผลรายวัน

ยูนุส กล่าวไว้ว่า แทนที่คนหนุ่มสาวจำนวนมหาศาลยืนต่อแถวเพื่อกรอกใบสมัคร เขากลับเห็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลที่จะเข้ามาในตลาด สร้างสรรค์ธุรกิจ แก้ไขปัญหาต่างๆ ชุบชีวิตและปรับเปลี่ยนชุมชน เพิ่มพลังให้กับเศรษฐกิจขนานใหญ่ เขาเห็นถึงแนวโน้ม อนาคตสำนักงานจัดหางานไม่ได้คอยหางานให้คน แต่กลายเป็นต้องโน้มน้าวให้ผู้คนเต็มใจที่จะทำงานให้กับคนอื่นๆ แทน

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนผู้หางานให้เป็นผู้สร้างงาน ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในทางออกของการแก้ไขปัญหาการว่างงานในอนาคต

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/