สงคราม (COVID 19) ยังไม่สงบ ขอเป็นกำลังใจนักรบ SMEs..(ต่อ)

สงคราม (COVID 19) ยังไม่สงบ ขอเป็นกำลังใจนักรบ SMEs..(ต่อ)

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยมา 5 ปี 

ทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs มีปัญหาในการชำระหนี้จนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL จำนวนมาก มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ที่ออกมาจึงผ่อนปรนในหลายด้าน โดยออกประกาศให้เป็นแนวทางปฎิบัติของธนาคารพาณิชย์ 3 ข้อ คือ 

1.ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงอัตราส่วน Liquidity Coverage ratio : LCR และอัตราส่วน net stable funding ratio (NSFR) ต่ำกว่า 100% ได้ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องมากขึ้น 

2.ให้ธนาคารพาณิชย์นำมูลค่าที่จะได้รับชดเชยจากรัฐบาลมาปรับลดความเสี่ยงด้านเครดิต สำหรับสินเชื่อส่วนที่เกินจากอัตราการชดเชยจากรัฐบาล โดยให้ใช้น้ำหนักความเสี่ยงตามประเภทธุรกิจ (เช่น ธุรกิจเอกชน 100% ลูกหนี้รายย่อย 75%) 3 การปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน ของ ธปท. ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ได้

นอกจากมาตรการเสริมสภาพคล่องที่ธปท.ผ่อนปรน รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จะชดเชยความเสียหายให้ธนาคารพาณิชย์ในกรณีที่ปล่อยสินเชื่อใหม่แล้วกลายเป็น NPL เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาปล่อยกู้ 2 ปี โดยจะชดเชยความเสียหายไม่เกิน 70% ของสินเชื่อปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยไม่เกิน 60% สำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs รายย่อย

เงื่อนไขสำคัญคือผู้มีสิทธิ์กู้จะต้องไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 ผู้กู้ต้องเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเดิม วงเงินที่จะกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง โดย ธปท. จะแจ้ง และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสินเชื่อทุกสัปดาห์ และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านราย ที่คาดว่าจะไดรับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 เลื่อนกำหนดชำระหนี้ เป็นเวลา 6 เดือน โดยพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติ โดยจะไม่ถือว่าเป็นการเสียประวัติ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อคือการจัดชั้นลูกหนี้ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่มีจุดอ่อนในการทำรายงานทางการเงินเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ยากขึ้น เพราะ TFRS9 จะมีความเข้มงวดในการจัดชั้นลูกหนี้ มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ได้อนุมัติแนวทางปฏิบัติทางการบัญชี มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชี จากสถานการณ์แพร่ระบาด

ของไวรัส COVID19 จำนวน 2 ฉบับ ที่จะทำให้ NPL ไม่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองลดลง กระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 ถึง 31 ธ.ค.2564

มาตรการที่ผมนำเสนอทั้งจากธปท.และ กกบ. ทางธปท.เชื่อว่า จะทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs มากขึ้น แต่ความเชื่อของธปท. และ SMEs จะได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ติดตามตอนต่อไปครับ..