ภาวะการลงทุนท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

ภาวะการลงทุนท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ในมุมของการลงทุน ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา

ว่าไทยยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจหรือไม่

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก หลายประเทศดำเนินมาตรการทั้งการปิดประเทศ การยกเลิกการเดินทางที่จะเข้ามาติดต่อหรือการเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุน รวมทั้งการงดจัดกิจกรรมเชิญชวนนักลงทุนหรือโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อาจมองได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อนโยบายขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีของไทย แต่เมื่อพิจารณาจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งโดยรวมและในพื้นที่อีอีซีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ พบว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนโดยรวมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 378 โครงการ เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีจำนวน 368 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 71,380 ล้านบาท ลดลง 44% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 128,460 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มีเงินลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 27,425 ล้านบาทหรือ 38.4% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยญี่ปุ่นมีการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 7,402 ล้านบาท อันดับ 2 คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 6,510 ล้านบาท และอันดับ 3 ฮ่องกง มีมูลค่าเงินลงทุน 3,458 ล้านบาท

อีอีซียังเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่ พิจารณาได้จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีทั้งสิ้น 117 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 47,580 ล้านบาท หรือ 67% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดชลบุรี มีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด (63 โครงการ, 25,790 ล้านบาท) ตามด้วยระยอง (39 โครงการ, 19,590 ล้านบาท) และฉะเชิงเทรา (15 โครงการ, 2,200 ล้านบาท) ตามลำดับ

  ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่า 24,352 ล้านบาท  คิดเป็น 34.1% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด พบว่า มูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 10,620 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 5,690 ล้านบาท และยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 2,400 ล้านบาท

  ในส่วนของมาตรการรับมือและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 บอร์ดบีโอไอได้ออก 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1) มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อเร่งรัดให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อรับมือกับโควิด-19 เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ เป็นต้น โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี จากปกติที่ได้รับอยู่แล้ว 3-8 ปี และ 2) มาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยผ่อนปรนเงื่อนไขและพิจารณาขยายเวลาการดำเนินการ เช่น การขยายเวลานำเข้าเครื่องจักร การขยายเวลาการดำเนินการเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานสากล การผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว เป็นต้น

ในมุมของการลงทุน พบว่า ไทยยังเป็นแหล่งลงทุนที่ดี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน และจะมีผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในระยะถัดไป ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่พยุงให้การลงทุนสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ คือ ความเชื่อมั่น โดยเฉพาะจากนักลงทุนเอง ที่สะท้อนสถานการณ์ความเชื่อมั่นในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่จบ จึงต้องติดตามภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสสองอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อเป้าหมายการลงทุนในปีนี้