รีไฟแนนท์บ้าน โอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์เก่าไปได้หรือไม่

รีไฟแนนท์บ้าน โอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์เก่าไปได้หรือไม่

สวัสดีครับพบกับประกันภัยเรื่องใกล้ตัวกันอีกเช่นเคยนะครับ การประกันภัยเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่สามารถรองรับต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

กับตัวเรา และ/หรือครอบครัวของเรา ประกันภัยเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ท่านมีความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยมากขึ้น สำหรับฉบับนี้เป็นเรื่อง “การรีไฟแนนท์บ้านสามารถโอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์เก่าไปได้หรือไม่ “ ซึ่งการทำรีไฟแนนท์บ้านกับธนาคารแห่งใหม่เนื่องจากมีข้อเสนอที่ดีในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อบ้านที่อยู่อาศัย จึงได้ตัดสินใจทำการรีไฟแนนท์ ปรากฎว่าธนาคารแห่งใหม่นี้มีเงื่อนไขข้อหนึ่งว่าเราต้องทำการประกันคุ้มครองเงินกู้ 1 ฉบับ คำถามที่อยากรู้คือ กรมธรรม์คุ้มครองเงินกู้ที่เราทำเอาไว้กับธนาคารเก่าไว้โดยระบุว่าธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์หากผู้กู้เสียชีวิตลง

 กรณีอย่างนี้เป็นคำถามที่สอบถามเข้ามาบ่อยอยู่เหมือนกัน โดยในปัจจุบันนี้ เวลาใครไปทำการกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคาร ผู้กู้มักจะถูกแนะนำหรือเสนอให้ทำการประกันภัยอยู่หลายอย่าง เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยได้เปิดให้ธนาคารสามารถเป็นนายหน้าประกันชีวิต และหรือนายหน้าประกันวินาศภัยได้ จึงเป็นการบริการเสริมของธนาคารที่สามารถกระทำได้แต่ต้องทำตามคำสั่งของนายทะเบียน(คปภ.)

 เอาละครับเรามาดูกันต่อครับว่าการประกันเงินกู้คืออะไร? การประกันคุ้มครองเงินกู้ที่ธนาคารเสนอนี้จริงๆแล้วก็คือ การประกันชีวิตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อที่เรากู้เพื่อซื้อบ้านเพื่อยู่อาศัย คำศัพท์ทางประกันเรียกว่า Mortgage Reducing Time Assurance หรือ MRTA หมายถึงการประกันชีวิตของผู้กู้เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากผู้เอาประกันภัยหรือผู้กู้เสียชีวิตลงตามสัญญา ภาระหนี้ที่มีการกู้กับทางธนาคารนั้นทางธนาคารก็จะเป็นผู้รับประโยชน์จากเงินเอาประกันเพื่อมาจ่ายเงินกู้ให้กับธนาคารนั่นเอง การประกันชีวิตแบบนี้ความคุ้มครองจะลดลงตามระยะเวลาที่เรากู้ไปโดยการลดลงนั้นจะสัมพันธ์กับยอดหนี้ที่ผ่อนชำระไปเรื่อย ๆ

การประกันอีกแบบหนึ่งที่ทางธนาคารนิยมทำกันคือการเสนอขายแบบประกันชีวิต โดยการร้องขอความช่วยเหลือให้ผู้กู้เงินธนาคารช่วยทำประกันชีวิตอีกฉบับหนึ่ง โดยที่ผู้กู้ก็จะเข้าใจว่าเป็นการประกันคนละแบบกับการประกันคุ้มครองเงินกู้ และผู้กู้เองก็เกรงว่าจะมีผลกับเงินที่ขอกู้จึงอาจตกลงทำประกันชีวิตอีกหนึ่งฉบับและนอกจากนี้แล้วผู้กู้ต้องทำประกันอีกแบบหนึ่งคือ การประกันอัคคีภัยซึ่งเป็นการประกันวินาศภัยที่กำหนเดไว้ในสัญญาเลยครับว่าผู้กู้ต้องทำประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองบ้านตามมูลค่าที่ขอกู้กับทางธนาคารโดยบางแห่งจะมีการเก็บเบี้ยครั้งละ 3 ปี หรือมากกว่านี้ก็แล้วแต่จะมีการตกลงกัน เป็นอย่างนี้ก็เรียบร้อยละครับ ทั้งสามกรมธรรม์บางธนาคารหักจากยอดเงินกู้ก็มีบางธนาคารก็ให้ชำระเงินสดกันเลยก็มี ลักษณะอย่างนี้มีการดำเนินการกันมากในช่วงระยะนี้เนื่องจากใกล้ปิดยอดการขายสิ้นปีแล้วจึงไม่แปลกใจว่าทำไมช่วงนี้ปัญหาประเด็นนี้ถึงมาแรง และด้วยเหตุที่ผู้กู้จะต้องขอกู้กับธนาคารแล้วเกรงว่าหากไม่ทำตามที่เจ้าหน้าที่ธนาคารร้องขอก็เกรงว่าทางธนาคารอาจไม่ปล่อยเงินกู้ให้ หรือ อาจมีการกระทำในลักษณะให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการกู้เงินจึงต้องยอมทำตามที่เจ้าหน้าที่นาคารเสนอ ทางสำนักคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ สำนักงาน คปภ.ในฐานะนายทะเบียนผู้มีอำนาจตามกฎหมายจึงได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยหรือ การประกันชีวิตผ่านธนาคาร หรือ BANCASSURANCE  ซึ่งเป็นการเสนอขายโดยพนักงานธนาคารที่ได้รับอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันวินาศภัยเท่านั้นโดยมีคำสั่งนายทะเบียนกำหนดให้ถือปฏิบัติดังนี้

1.ผู้เสนอขาย (เจ้าหน้าที่ธนาคาร) ต้องแจ้งชื่อ-นามสกุลพร้อมแสดงใบอนุญาตินายหน้าเสมอ

2.การทำประกันภัยของลูกค้าต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ

3.ธนาคารจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการของ คปภ.เช่นเดียวกับนายหน้าประกันภัย คือต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเสนอขายประกันวินาศภัยหรือประกันชีวิตและหากผู้มุ่งหวังแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ต้องการซื้อ ต้องหยุดการเสนอขายทันที และเมื่อผู้มุ่งหวังอนุญาตจะต้องอธิบายเกี่ยวกับกรมธรรม์ของบริษัทที่ตนเองสังกัดให้ลูกค้ามีความเข้าใจถูกต้องชัดเจน

​คงได้รับทราบกันชัดเจนแล้วนะครับว่าการเสนอขายประกันโดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารนั้นมีข้อควรปฏิบัติอย่างไร? ดังนั้นจึงตอบคำถามที่ถามว่ากรมธรรม์คุ้มครองเงินกู้ที่ทำเอาไว้กับธนาคารเก่าไว้โดยระบุว่าธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์หากผู้กู้เสียชีวิตลง กรณีอย่างนี้ เราสามารถโอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันคุ้มครองเงินกู้จากธนาคารแห่งเดิมมายังธนาคารแห่งใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ครับแต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากทางธนาคารแห่งเก่าก่อนซึ่งโดยทั่วไปธนาคารแห่งใหม่จะช่วยดำเนินการให้ แต่หากทางธนาคารไม่ดำเนินการให้ เราก็ต้องทำการติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อขอยกเลิกกรมธรรม์และขอเงินค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เหลือคืนได้ครับ

การประกันภัยเป็นหลักประกันที่ดีครับ และที่สำคัญเมื่อทำการประกันแล้วต้องตรวจสอบความถูกต้องของกรมธรรม์และทำความเข้าใจในสัญญาประกันภัยหรือการประกันชีวิตมีหลากหลายแบบผู้เอาประกันภัยต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสาระสำคัญในสัญญาให้ชัดเจนนะครับเพื่อเราจะได้รับรู้ถึงสิทธิของเราตามสัญญาอย่างแท้จริง