สามเรื่องที่ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยประเทศได้

สามเรื่องที่ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยประเทศได้

ข่าวดังอาทิตย์ที่แล้ว คือข่าวที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะเขียนจดหมายถึงเจ้าสัวหรือเศรษฐีร่ำรวยของประเทศ 20 คน เพื่อขอให้ช่วยประเทศในยามวิกฤติ

ที่ประเทศกำลังเดือดร้อน ตอนแรกที่เป็นข่าว คำถามในใจหลายคน คือทำไมต้องเขียน ใครให้ไอเดีย และหวังจะให้เจ้าสัวเหล่านี้ทำอะไร เพราะหลายคนก็ช่วยเหลือเงียบๆ อยู่แล้ว ทั้งใช้เงินบริษัทและเงินส่วนตัว พอเนื้อความในจดหมายถูกเปิดเผยออกมา ก็ไม่มีอะไร เนื้อหาส่วนใหญ่ย้ำว่าวิกฤติเป็นวิกฤติใหญ่ ทุกคนต้องช่วยกัน ที่ทำไว้ช่วยเหลือไว้ขอให้มีแผนทำต่อ ไม่ได้ขอเงิน และอยากให้รัฐบาลช่วยอะไรก็บอก คือจบแบบไม่มีประเด็นสื่อสารหลัก เหมือนจะบอกคนหรือทีมงานที่อยากให้เขียนจดหมายว่า เขียนแล้ว และที่วิจารณ์กันไปก่อนหน้าก็คิดกันไปเอง นี่คือการบริหารแบบไทยๆ 

วิกฤตินี้เป็นวิกฤติใหญ่จริงๆ กระทบทุกคนในประเทศไม่ยกเว้นไม่ว่าจนหรือรวย และหนักกว่าวิกฤติปี 40 เพราะเป็นวิกฤติสองเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ วิกฤติด้านสาธารณสุข คือ การระบาดของไวรัสโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ ที่สำคัญแนวทางการแก้ไขวิกฤติสาธารณสุขที่ต้องหยุดกิจการ อยู่บ้าน ห้ามการติดต่อที่ไม่จำเป็นก็กระทบเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของประชาชนที่ทำงานหรือมีรายได้เป็นรายวัน ที่ต้องหยุดทำงาน ไม่มีรายได้ ทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ที่สำคัญ แม้ตัวเลขการระบาดจะลดลง แต่ความไม่แน่นอนยังมีอีกมากที่รออยู่ข้างหน้า ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้และจะใช้เวลา

1.ตัวเลขการระบาดที่ดีขึ้น ทำให้มีการพูดถึงมาตรการผ่อนคลายให้คนกลับไปทำงาน ประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้ แต่ตราบใดที่เรายังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน และไม่มีภูมิต้านทานกลุ่มของคนในประเทศในระดับที่สูงพอ การเปิดหรือผ่อนคลายไม่ว่าจะจำกัดแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย เพราะมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การระบาดรอบใหม่เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่ทางการต้องกลับมาล็อคดาวน์ประเทศอีกครั้งเพื่อหยุดการระบาด นี่คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้น ทำให้การเดินทางกลับสู่สถานการณ์ปกติของเศรษฐกิจ ตราบใดที่ยังไม่มีวิธีรักษา จะเป็นเรื่องที่เสี่ยงและใช้เวลา จะมีการปิดและเปิดพื้นที่ล็อคดาวน์เป็นรอบๆ จนกว่าจะปลอดภัย คือมีวัคซีน หรือมียารักษา

2.การเปิดและปิดการล็อคดาวน์เป็นรอบๆ หมายถึงเศรษฐกิจจะไม่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างมากก็ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ คือวิ่งได้ไม่เต็มสูบ เพราะคนยังระมัดระวังอยู่ จากที่เชื้อไวรัสยังมีเพียงแต่การระบาดลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีเท่าที่จำเป็น ภายใต้พฤติกรรมใหม่ของคนในสังคมที่ระมัดระวังมากขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงจะใช้เวลาและจะลากยาวแบบตัวดับเบิลยูหลายตัว คือมีขึ้นและลงหลายครั้งตามมาตรการเปิดและปิดการล็อคดาวน์

3.เงินอย่างเดียวแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทไม่สามารถทำให้ไวรัสโควิดหมดไปจากประเทศได้ ที่ทำได้คือ ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถประคองตัวได้ในสถานการณ์ที่มีการระบาด หรือมีความเสี่ยงที่การระบาดจะปะทุขึ้นใหม่ ด้วยการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดูแลให้ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหา และดูแลให้บริษัทและระบบการเงินของประเทศมีสภาพคล่องพอที่จะรักษาธุรกิจให้อยู่ได้ต่อไป ไม่เลิกจ้างงาน ไม่ล้มละลาย ยังทำธุรกิจอยู่เท่าที่จะทำได้เพื่อรอให้การระบาดจบลง เงินจึงไม่ใช่ยารักษา แต่เป็นยาบรรเทาที่ซื้อเวลาให้เศรษฐกิจมีกำลังที่จะอยู่ได้ สามารถทำกิจกรรมได้ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

ในแง่นี้ บทบาทของธุรกิจขนาดใหญ่จึงสำคัญมากในสถานการณ์ขณะนี้ ที่จะต้องช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านจุดความไม่แน่นอนที่เป็นความเดือดร้อนนี้ไปให้ได้ ข้อมูลที่นำเสนอในการสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยปีที่แล้ว ชี้ว่า บริษัทที่ใหญ่สุด 5% มีสัดส่วนรายรับเท่ากับ 85% ของรายรับทั้งหมดของภาคธุรกิจ พูดได้ว่าหัวใจของภาคธุรกิจของประเทศเราคือ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสูงในการผลิต มีการจ้างงานมาก มีความรู้และมีเครือข่ายทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในเครือ บริษัทในห่วงโซ่การผลิตและบริษัทในห่วงโซ่การจำหน่าย ทำให้บริษัทใหญ่จึงมีบทบาทได้มากในการช่วยเหลือประเทศ และทำในสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้

ในความเห็นของผม ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถช่วยเหลือประเทศได้อย่างน้อยใน 3 เรื่อง ซึ่งหลายบริษัทขณะนี้กำลังทำอยู่

1.ประคองให้ธุรกิจของตนเดินต่อไป ไม่หยุดผลิต ไม่เลิกจ้างงาน แม้สถานการณ์จะลำบาก เพราะจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศได้มาก ให้แรงงานของประเทศยังมีงานทำ มีรายได้ นอกจากนี้ ต้องดูแลบริษัทในเครือ บริษัทในห่วงโซ่การผลิตและการจำหน่ายให้สามารถยืนต่อได้ ไม่ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้างงาน

2.สนับสนุนความพร้อมด้านการแพทย์ของประเทศที่จะต่อสู้กับการระบาดด้วยการบริจาคเงินหรืออุปกรณ์การแพทย์ หรือปรับไลน์การผลิต โดยใช้กำลังการผลิตที่มีผลิตสินค้าการแพทย์ที่ประเทศขาดแคลน ช่วยคิดนวัตกรรมในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายบริษัทกำลังทำอยู่ ตัวอย่างที่เป็นข่าวก็เช่น กลุ่มบุญรอดบริวเวอร์รี่ กลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มทีซีพี บทบาทนำของกลุ่มบริษัทใหญ่ในเรื่องเหล่านี้จะทำให้บริษัทอื่นๆ มีความมั่นใจที่จะเข้ามาร่วมมีบทบาทมากขึ้น

3.ช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ด้วยการช่วยบริจาคเงิน อาหาร สิ่งของ กำลังคนและระบบการจัดการให้กับโรงทานของวัดและมูลนิธิต่างๆ ที่ทำอาหารแจกผู้คนที่ขาดแคลนเพื่อประทังชีวิต ซึ่งตอนนี้มีความต้องการทั่วประเทศ บริษัทใหญ่สามารถใช้กำลังคนและเครือข่ายที่มีอยู่ช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างง่ายๆ เพราะเป็นความเดือดร้อนที่คนจำนวนมากในประเทศประสบอยู่ เฉพาะโรงทานที่วัดทั่วประเทศได้ร่วมจัดตั้งขึ้น ตามดำริของสมเด็จพระสังฆราชก็มีกว่า 300 แห่ง บทบาทนำของบริษัทใหญ่ในเรื่องนี้จะทำให้คนในประเทศสบายใจและภูมิใจกับภาคธุรกิจของประเทศ

เห็นด้วยว่า ทุกคนต้องช่วยกัน และที่นายกฯ เขียนจดหมายไปก็คงอยากย้ำประเด็นนี้ผ่านไปถึงบริษัททุกแห่ง