ส่องอนาคตโมเดิร์นเทรด และเทรนด์ร้านสะดวกซื้อ

ส่องอนาคตโมเดิร์นเทรด และเทรนด์ร้านสะดวกซื้อ

โมเดิร์นเทรด ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการซื้อของกินของใช้ของผู้บริโภค ด้วยการขายในราคาที่ถูกกว่า ชั่วโมงเปิดบริการที่ยาวขึ้น

การจัดหน้าร้านบรรยากาศที่สะอาดและสะดวกสบาย รวมถึงการจัดส่งสินค้าออนไลน์เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น

โมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต มักจะให้บริการ “การขายแบบเบ็ดเสร็จ” เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคส่วนมาก นอกเหนือจากการให้บริการอาหารสดและของชำ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ยังเสนอขายสินค้าอื่น เช่น เสื้อผ้า ของเล่น เกม และเครื่องใช้ไฟฟ้า

เนื่องจากอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคอาเซียนเติบโตแบบตัวเลขสองหลัก จึงผุดบริการค้าปลีกออนไลน์ขึ้น โดยตัวเลขผลสำรวจเมื่อปี 2559 สัดส่วนของบริการซื้อของชำออนไลน์คิดเป็นเพียงแค่ 1% เท่านั้นจากยอดการขายของชำทั้งหมดในอาเซียน การที่ผู้บริโภคยังคงนิยมการเลือกซื้อของสดด้วยตนเองอยู่ เราจึงคาดการณ์ว่าช่องทางการขายแบบดั้งเดิมจะยังคงอยู่และเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคยังคงนิยมต่อไปในอนาคตอันใกล้

ไม่ว่าการให้บริการการค้าปลีกของชำออนไลน์จะเป็นที่นิยมในอีก 2-5 ปีข้างหน้าหรือไม่ ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องในการขยายฐานลูกค้าและปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้สอดรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าผู้เล่นในตลาดค้าปลีกออนไลน์จะต้องปรับตัวให้ทันความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค เพื่อสร้างผลกำไรมากขึ้น

มองตลาดโมเดิร์นเทรดจีน

การเกิดขึ้นของชุมชนเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ เราคาดการณ์ว่ากลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 50% ในปี 2565 ในขณะที่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะเสียส่วนแบ่งตลาดเพราะยังคงกระจัดกระจายและไม่สามารถขยายฐานธุรกิจให้ทันท่วงที

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ “ค้าปลีกแนวใหม่” ของ Alibaba Group ได้รุกคืบเข้าไปในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อว่า “Hema” ในปี 2559 ทำให้ธุรกิจนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ บริษัทยังได้ประกาศแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ถึง 2,000 สาขาในจีนในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้

โมเดลธุรกิจ “ค้าปลีกแนวใหม่” เป็นการผสมผสานระหว่างการค้าออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเป็นทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และแพลตฟอร์ม e-commerce ภายในแอปพลิเคชัน Hema ในมือถืออีกด้วย แนวคิด “ค้าปลีกแนวใหม่” จะมุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะยังคงรักษาบรรยากาศการซื้อสินค้าในร้าน ความสดใหม่ของสินค้าและการจัดทำอาหาร ตลอดจนบริการจัดส่งถึงบ้านภายใน 30 นาที ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยังให้ความสำคัญกับความโปร่งใส โดยเฉพาะความปลอดภัยในอาหาร โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าต่างๆ ได้ทันทีผ่าน QR code รวมถึงการใช้ big data ที่มีการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เหมาะสมของแต่ละบุคคลโดยอาศัยประวัติการซื้อสินค้า

ภาพรวมของโมเดิร์นเทรดในอาเซียน

สำหรับประเทศอินโดนีเซีย ส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจโมเดิร์นเทรดยังตามหลังประเทศอื่นๆอยู่ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 21% โดยร้านสะดวกซื้อเป็นช่องทางหลักซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 9% ของตลาดทั้งหมดในปี 2560 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่าร้านสะดวกซื้อจะมีอัตราการเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) โตขึ้นอีก 6% จากปี 2560 ถึงปี 2565 และอาจจะไล่ตามทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ทันในแง่ของมูลค่าของยอดขายในปี 2565

ในอินโดนีเซีย ร้านสะดวกซื้อ (หรือมินิมาร์ท) ครองตลาดโดยผู้เล่นท้องถิ่นอย่าง Indomaret & Alfamart ซึ่งควบคุมธุรกิจนี้อยู่ในสัดส่วนที่เกือบจะ 90% โดยร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดและเป็นรูปแบบสมัยใหม่ของ ”ซุ้มขายของชำ” แบบเดิมที่เคยมี ซึ่งในแง่ของการปกป้องผู้ประกอบการท้องถิ่นและรายย่อยแล้ว กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียเข้มงวดกับการเปิดให้ธุรกิจโมเดิร์นเทรดของต่างชาติเข้ามาแข่งขันในประเทศร้าน 7-Eleven ได้มีขึ้นครั้งแรกในอินโดนีเซียในปี 2552 และถอนทุนออกจากประเทศในปี 2560 หลังจากที่เจาะตลาดไม่สำเร็จ

สำหรับประเทศไทยเอง ข้อมูล ณ สิ้นปี 2560 สัดส่วนโมเดิร์นเทรดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงที่ 44% และจะยังคงเติบโตขึ้นอีก 3% เป็น 47% ในปี 2565 ร้านสะดวกซื้อยังคงเป็นช่องทางหลักของโมเดิร์นเทรดและจะยังคงขยายไปแตะที่ 21% ของการค้าปลีกสินค้าของชำทั้งหมดในปี 2565

ธุรกิจโมเดิร์นเทรดของมาเลเซียนั้นคล้ายกับของไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 43% โดยร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะยังคงเติบโตต่อปีอยู่ที่ 4-5% ในตลอดอีก 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อาจจะหดตัวลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของร้านสะดวกซื้อที่เข้ามาแย่งฐานลูกค้าไป ในขณะเดียวกัน ความต้องการในการซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อยังเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องจอดรถ ในขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ยังคงไม่มีการให้บริการนี้ในขณะนี้

ด้านสิงคโปร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ซึ่งมีการขยายเวลาการให้บริการเพื่อตอบสนอง ชนชั้น วัยทำงาน การให้บริการ 24 ชั่วโมงและมีสินค้าที่มากขึ้นในราคาที่ถูกลงทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในสิงคโปร์เติบโตในลักษณะคล้ายกับร้านสะดวกซื้อ ในขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมเนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่

ติดตามอ่านรายละเอียด เกี่ยวกับมุมมองธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ที่ เว็บไซต์ยูโอบี – สินค้าอุปโภคบริโภค