โควิด-19 ในสังคมที่ปฏิเสธความตาย

โควิด-19 ในสังคมที่ปฏิเสธความตาย

ทำไมสถานการณ์โควิด-19 ในโลกตะวันตกที่ดูเหมือนว่าจะมีความพร้อมทางสาธารณูปโภค การแพทย์และสุขภาพ เช่น สหรัฐและยุโรปตะวันตกจึงตกอยู่ในสภาพร่อแร่

รายงานวิจัยของผู้เขียนภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคนไทย 4.0 มีคำตอบเบื้องต้นคือ การพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ทำให้เกิดการละเลยต่อการระบาดของโรคที่เราคิดกันว่าสามารถจำกัดบริเวณและควบคุมได้ แต่หันไปพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อยืดอายุขัยของมนุษย์(Life extending technology) คือ เส้นทางแห่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เน้นการจัดการกับโรคเฉียบพลันและความเสื่อมของร่างกายได้มากยิ่งขึ้น

หรือการพัฒนาเทคโนโลยียืดอายุ เช่น การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงดัดแปลงยีนเพื่อรักษาโรค การทำ genome screening รวมไปถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์และการรักษาได้มากขึ้น

ข้อดีของความก้าวหน้านี้คือ เพิ่มโอกาสในการรู้ก่อนที่อาการของโรคจะแสดง ข้อดีที่ 2 เมื่อระบุได้เร็วขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะรักษาก็จะมีมากยิ่งขึ้น ข้อที่ 3 แม้เป็นโรคแล้ว โอกาสในการเพิ่มอัตราการหายจากโรคอย่างเด็ดขาดก็เพิ่มขึ้น ความก้าวหน้าดังกล่าวจะทำให้การตายจากโรคเฉียบพลันลดน้อยลงและประชากรโดยเฉลี่ยมีอายุยืนขึ้น ในอนาคตการตายจะเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย จากโรคไม่ติดต่อ และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลจากการพยายามรักษาจนถึงที่สุด เพราะการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้คนมีความหวังในการรักษามากขึ้นด้วยเช่นกัน

จากการสนทนากลุ่มกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพบว่า โจทย์ใหญ่ที่สำคัญในอนาคตคือ live longer or live better กล่าวคือเทคโนโลยีเหล่านี้มุ่งยืดอายุ แต่ยังขาดการพูดคุยถึงสมดุลระหว่างการมีอายุยืนยาวกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ข้อถกเถียงที่ 2 คือการแพทย์จะจัดการกับความเสื่อมอย่างไร ในอนาคตการแพทย์อาจสามารถทำให้ความเสื่อมกลายเป็นโรคชนิดหนึ่ง (Aging as disease) ที่อาจรักษาให้หายได้ ความเสื่อมทางสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ และโรคที่ส่งผลมาจากสารเคมีในสมอง เช่น ซึมเศร้า เหล่านี้จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ทางการแพทย์ว่าหากอายุร่างกายยืนยาวขึ้นแต่มีความเสื่อมทางสมอง การแพทย์จะแก้ไขอย่างไรและจะทำอย่างไรให้คนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสูงอายุได้

แนวโน้มที่มองเห็นได้ในปัจจุบัน คือการที่พื้นที่ทางสังคม (พื้นที่ที่มนุษย์ใช้ในการมีปฏิสัมพันธ์ ทำกิจกรรมและประกอบสร้างตัวตน) เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นพื้นที่ที่แสดงออกถึงการไม่ยอมจำนนต่อความแก่ ความเสื่อม และความตาย โดยพื้นที่เหล่านี้แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันทั่วไปของคนในสังคม โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของฟิตเนส คลินิกเสริมความงาม (ชะลอวัย วิตามินเสริม เครื่องสำอาง ฯลฯ) สินค้าเพื่อสุขภาพ (รองเท้า เก้าอี้ เตียง ฯลฯ) ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ (อาหารคลีน อาหารออแกนิกปลอดสารพิษ อาหารไขมันต่ำ ร้านอาหาร-คาเฟ่เพื่อสุขภาพ) เครื่องนุ่งห่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

นอกจากพื้นที่ทางสังคมแล้ว มนุษย์ยังดำเนินชีวิตภายใต้กรอบหรือถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมของเมือง อันเป็นพื้นที่เชิงกายภาพที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง สวนสาธารณะ การเดินท่อหรือสายไฟต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น จะพบว่าในปัจจุบันมีการนำเอา “สุขภาพ” หรือ “การจัดการเพื่อสุขภาพที่ดี” มาเป็นจุดขายของโครงสร้างเชิงกายภาพ (infrastructure and public utility) ของการดำรงชีวิต

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และกวาดสัญญาณพบว่ามีความพยายามที่จะบูรณาการการแพทย์และระบบบริการสุขภาพเข้าไปเป็นยุทธศาสตร์การขายที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มคุณค่าของโครงการให้มีมากกว่าเจ้าอื่น หรืออย่างเช่น การเลือกทำเลที่ตั้งให้อยู่ในรัศมีโรงพยาบาล (proxemic) การมีระบบโทรฉุกเฉินตั้งรับ 24 ชั่วโมง หรือการสร้างที่อยู่อาศัยที่มีบริการในการดูแลยามเจ็บป่วยแก่ชรา เป็นต้น ชี้ให้เห็นการพยายามผนวกความไม่อยากตายเข้าสู่สิ่งแวดล้อมรอบกายมากขึ้น

ลักษณะสำคัญ 3 ประการที่บ่งชี้ถึงการมุ่งสู่สังคมปฏิเสธความตายนี้ กำลังฉายให้เห็นภาพในอนาคตที่คนเมืองมีแนวโน้มที่จะนึกถึงความตายน้อยลง การที่สังคมปฏิเสธความตายไม่ว่าจะด้วยรู้ตัวหรือไม่ คือการที่สังคมกำลังผ่อนคลายความกังวลเรื่องของความตายไปก่อน หรือไม่เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย อาจมีข้อโต้แย้งว่า

ทั้ง 3 ลักษณะข้างต้นคือส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับความตายแล้ว แต่แท้จริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันคือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะไม่ตายต่างหาก และเมื่อความตายจริงๆ มาถึง เช่น โควิด-19 สังคมเหล่านี้ก็รับมือไม่ทันแล้ว

สังคมปฏิเสธความตายทำให้ไม่เกิดการเตรียมตัวอย่างแท้จริง เป็นสภาพสังคมที่ต่างก็หลีกเลี่ยงการพูดถึงความตาย หรือหลีกเลี่ยงความเป็นจริงที่ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับการต่อสู้ในวาระท้าย และการเจ็บปวดทรมานจากโรค ซึ่งในอนาคตอาจเป็นเพื่อนหรือครอบครัวเราคนใดคนหนึ่ง หรืออาจเป็นตัวเราเอง การพูดคุยถึงแนวทางการมีสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องดี แต่สังคมยังต้องการการพูดคุยถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยวาระท้ายหรือผู้ที่ใกล้เสียชีวิต

สังคมยังต้องการให้ครอบครัวหันหน้าเข้าหากันเพื่อวางแผนเรื่องความไม่แน่นอนในอนาคต วางแผนการตัดสินใจและวางแนวทางสำหรับเหตุไม่คาดฝัน สังคมที่ต่างก็เตรียมพร้อมสู่การไม่ตายจะต้องเลิกปัดปัญหาไปใต้พรม แล้วหันหน้ามาคุยกันว่าสังคมของเราต้องการการตายแบบใด และจะออกแบบเมือง ระบบบริการ และนโยบายอย่างไรที่จะทำให้สามารถไปถึงจุดนั้นได้นั่นเอง

การปิดเมืองคราวนี้จึงเป็นประจักษ์พยานถึงผลลัพธ์ที่เราได้ละเลยไป!

โดย...

ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย