ทำผิดเพราะไม่รู้ ไม่ต่างจากทำผิดทั้งที่รู้

ทำผิดเพราะไม่รู้ ไม่ต่างจากทำผิดทั้งที่รู้

ในโลกธุรกิจไม่ว่าจะยุคสมัยใด การแข่งขันทางธุรกิจย่อมเกิดขึ้นเสมอ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ จำต้องหากลยุทธ์

เพื่อสร้างธุรกิจของตนให้เจริญเติบโต หรืออย่างน้อยต้องทำให้ธุรกิจของตนดำเนินกิจการในตลาดได้ยาวนานที่สุด

กลยุทธ์หนึ่งที่มีทั้งมิติเชิงรุกและเชิงรับที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นคือ การควบรวมธุรกิจ (Merger & Acquisition : M&A)” ในมิติเชิงรุก หลายธุรกิจที่ควบรวมกันก็เพื่อเสริมให้ธุรกิจนั้นเข้มแข็งขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง หรือทำให้ธุรกิจนั้นมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรมากขึ้น ในมิติเชิงรับ หลายธุรกิจที่ควบรวมกันก็อาจเป็นเพราะธุรกิจที่ถูกควบรวม ขาดซึ่งเงินทุนในการดำเนินกิจการหรือพัฒนาธุรกิจนั้นแต่เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินกิจการในตลาดต่อไปได้ ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกควบรวมจำต้องยินยอมให้ธุรกิจที่ใหญ่กว่าทำการควบรวมแม้จะต้องสูญเสียหรือกระทั่งหมดสิทธิในการบริหารธุรกิจก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน มีผู้ประกอบธุรกิจรุ่นใหม่ในประเทศไทยหลายรายที่สร้างธุรกิจให้เกิดมูลค่า ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดและสร้างผลกำไรไม่น้อยจากการได้รับการควบรวมธุรกิจจากผู้ประกอบธุรกิจที่ใหญ่กว่า

บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) ได้เผยมูลค่าของการควบรวมธุรกิจในไทย ในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4.8 แสนล้านบาท โดยภาคธุรกิจการเงินมีมูลค่าของการควบรวมธุรกิจสูงสุดประมาณ 50% รองลงมาคือภาคธุรกิจสาธารณูปโภคเกือบ 20% ของมูลค่าการควบรวมธุรกิจทั้งหมด

แม้การควบรวม (Merger) และการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) จะมีนัยที่แตกต่างกัน กล่าวคือการควบรวม หมายถึงการที่ 2 บริษัทควบรวมกิจการเข้าด้วยกันและก่อตั้งเป็นอีกหนึ่งบริษัทใหม่ขึ้นมา ในขณะที่การเข้าซื้อกิจการ หมายถึงการที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้อกิจการของอีกบริษัทหนึ่ง ทำให้บริษัทที่ถูกซื้อกิจการหายไปจากตลาด

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ปี 2560 ให้ถือเอาการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ เป็น “การรวมธุรกิจ” โดยให้นิยามโดยสรุปว่า หมายถึง การที่ผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วน การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจของธุรกิจอื่น อันมีผลให้สถานะของธุรกิจหนึ่งคงอยู่และอีกธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลง หรือเกิดเป็นธุรกิจใหม่

กล่าวได้ว่าการควบรวมธุรกิจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ 1.การควบรวมธุรกิจในแนวนอน (Horizontal merger) และ 2.การควบรวมธุรกิจที่ไม่ใช่แนวนอน (Non-Horizontal merger) ซึ่งแบ่งได้เป็นอีก 2 รูปแบบ คือแบบแนวตั้ง (Vertical merger) และแบบกลุ่ม/หลากหลาย (Conglomerate merger)

การควบรวมธุรกิจในแนวนอน คือ การควบรวมธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพื่อวัตถุประสงค์ เช่น เพิ่มฐานลูกค้า เพิ่มกำลังการผลิต เป็นต้น ตัวอย่างของการควบรวมธุรกิจรูปแบบนี้คือ บริษัท ฟู้ดแฟคเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด และยังถือหุ้น 100% ในบริษัท เอส คอมพานี (1933) จำกัดซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหาร และหนึ่งในนั้นคือร้านอาหาร EST.33 (อาหารสเต๊ก) บริษัท ฟู้ดแฟคเตอร์ จำกัด ได้ทำการควบรวมธุรกิจกับ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหาร และหนึ่งในนั้นคือร้านอาหาร Santa Fe (อาหารสเต๊ก)

การควบรวมธุรกิจในแนวตั้ง คือ การควบรวมของธุรกิจที่มีห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply chain) เพื่อวัตถุประสงค์ เช่น ส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินกิจการแบบครบวงจร ลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น ตัวอย่างของการควบรวมธุรกิจรูปแบบนี้คือ บริษัท DAIKEN Corporation ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุที่ทำจากไม้ เช่นแผ่น MDF (Medium Density Fiberboard) ควบรวมธุรกิจกับบริษัท C&H จำกัด ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายแผ่น MDF

การควบรวมธุรกิจแบบกลุ่ม/หลากหลาย คือ การควบรวมของธุรกิจที่ไม่มีลักษณะเหมือนกันเลย เพื่อวัตถุประสงค์ เช่น เพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากธุรกิจใหม่ กระจายความเสี่ยงของการลงทุนในธุรกิจเดิมไปยังธุรกิจใหม่ เป็นต้น ตัวอย่างคือ บริษัทผลิตเครื่องดื่มควบรวมธุรกิจกับบริษัทผลิตขวดบรรจุภัณฑ์

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการควบรวมธุรกิจต้องปฏิบัติ รวมไปถึงบทลงโทษหากฝ่าฝืนโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว กรณีตัวอย่างการควบรวมธุรกิจในแนวนอนข้างต้น บริษัท ฟู้ดแฟคเตอร์ จำกัดต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หลังการรวมธุรกิจเสร็จสิ้นภายใน 7 วัน

สำหรับกรณีตัวอย่างการควบรวมธุรกิจในแนวตั้งข้างต้น ซึ่งเกิดขึ้นในญี่ปุ่น บริษัท DAIKEN Corporation ต้องขออนุญาตการรวมธุรกิจจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของญี่ปุ่น (Japan Fair Trade Commission : JFTC) ในส่วนของกรณีตัวอย่างการควบรวมธุรกิจแบบกลุ่ม/หลากหลายข้างต้น ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการรวมธุรกิจรูปแบบนี้ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องขออนุญาตหรือแจ้งต่อ กขค.

เช่นนี้แล้วผู้ประกอบธุรกิจที่จะทำการควบรวมธุรกิจจำต้องรู้และเข้าใจ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ให้ชัดเจน เพราะการกระทำผิดจากความไม่รู้ย่อมมีความผิดไม่ต่างจากการกระทำผิดทั้งที่รู้