ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกับการรู้เท่าทันสื่อ

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกับการรู้เท่าทันสื่อ

ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเฟคนิวส์ (fake news) หมายถึงข่าวปลอมหรือข่าวลวง ซึ่งหมายถึงข้อมูลอันเป็นเท็จ

และมักเกิดขึ้นจากเจตนาไม่พึงประสงค์ของผู้สร้างเฟคนิวส์ขึ้น เช่น เพื่อต้องการใส่ร้ายป้ายสี เพื่อสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม หรือเพื่อโฆษณาขายสินค้าก็ตาม เฟคส์นิวส์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ แบบแรกคือการใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหานี้ แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ศูนย์ฯดังกล่าวมักกระตือรือร้นเป็นพิเศษกับเฟคนิวส์ที่เป็นผลลบกับรัฐบาล แต่กลับนิ่งเฉยกับเฟคนิวส์ที่ส่งผลเสียกับฝ่ายตรงข้าม 

แบบที่ 2 คือการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลว่ากินอาหารหรือยาอะไรบางชนิดเพื่อรักษาโรคบางโรคได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้ก็ได้มีสื่อมวลชนบางรายทำรายการชัวร์ก่อนแชร์ โดยพิธีกรจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งโดยมากมักจะเป็นแพทย์มาตอบคำถามออกอากาศให้ประชาชนรับฟังเพื่อยืนยันว่าข้อมูลข่าวสารในเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงกันในสังคมในขณะนั้นๆ ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ ปรากฎการณ์ทั้ง 2 นี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการแก้ปัญหาเฟคนิวส์ด้วยการใช้การสื่อสารจากช่องทางที่เป็นทางการและจากผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ผ่านตา ผ่านหู ของเราในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าแค่ว่าข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นจริงหรือเท็จ ความสลับซับซ้อนของข้อมูลข่าวสารนั้นบางครั้งเกิดจากการนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่เป็นทั้งข้อมูลจริงผสมอยู่กับข้อมูลที่เป็นเท็จ บางครั้งเกิดจากความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ส่งข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางครั้งอาจเกิดจากการแสดงความเห็น การวิเคราะห์ การคาดคะเนของทั้งผู้เชี่ยวชาญจริงและผู้ไม่เชี่ยวชาญจริง ดังนั้นการรู้เท่าทันสื่อ จึงมิใช่แค่เพียงการเลือกรับฟังข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เป็นทางการหรือฟังจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการใช้วิจารณญานประกอบการพิจารณา แม้ข้อมูลนั้นอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญก็ตาม

ณ ที่นี้ ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างข่าวสารบางชิ้นที่เกี่ยวกับประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สังคมต่างให้ฟังรับฟังอย่างสนใจและตระหนกกันในคราเดียวกัน

วันที่ 22 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่รัฐมีมาตรการปิดห้างร้านและสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เว็บไซต์ของสำนักข่าวแห่งหนึ่งลงข่าวที่มีเนื้อความอ้างจากเฟซบุ๊คที่เขียนโดยแพทย์คนหนึ่ง มีความตอนหนึ่งว่า “ทำนายได้เลยว่าอีก 10 วันต่อจากนี้เราจะเป็นอิตาลีโมเดล ที่มีคนไข้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด มีคนล้มตายจำนวนมากอย่างช่วยเหลือไม่ทัน และมันอาจเป็นตัวเราหรือญาติเราก็ได้ เพราะ... เราไม่มี social distancing ไม่มี self-quarantine ที่จริงจัง”

วันที่ 9 เม.ย. เว็บไซต์ของสำนักข่าวแห่งเดิม รวมถึงอีกหลายแห่งลงข่าวพาดหัวตรงกันว่า “เผยผลตรวจ PCR รพ.รามคำแหง บ่งชี้คนกทม. ติดโควิด แบบที่ไม่มีอาการ 120,000 คน” โดยมีเนื้อความอ้างจากเฟซบุ๊คของแพทย์คนหนึ่ง อ้างข้อมูลมาจากแพทย์อีกคนหนึ่ง (แพทย์ทั้ง 2 นี้เป็นศาสตราจารย์) เนื้อข่าวมีใจความว่ากรุงเทพฯ น่าจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่แสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการอยู่เป็นจำนวนถึง 120,000 คน ตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากผู้มารับการตรวจ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งจำนวน 7,776 รายพบว่าติดเชื้อ 95 ราย คิดเป็นผู้ติดเชื้อ 1.22% ของผู้มารับการตรวจ 

ดังนั้นเมื่อกรุงเทพฯ มีประชากร 10 ล้านคน ก็น่าจะมีคนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรืออาการน้อย120,000คน ซึ่งข่าวนี้ก็ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย จนกระทั่งเจ้าของเฟซบุ๊คต้นทางได้โพสต์ขอให้สื่อย่าพาดหัวข่าวในลักษณะนี้และในที่สุดสำนักข่าวบางแห่งก็ได้ลบข่าวนี้ออกไป

จาก 2 ปรากฎการณ์ สิ่งที่เหมือนกันคือการที่สำนักข่าวซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ได้นำเอาข้อความจากเฟซบุ๊คของผู้ที่เป็นแพทย์มาเผยแพร่ต่อไม่ว่าจะโดยขอก่อนอนุญาติหรือไม่ก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่าข้อความจากเฟซบุ๊คของแพทย์ทั้ง 2 นั้นเป็นความคิดเห็นหรือเป็นการคาดการของเจ้าตัว แต่ทว่าเป็นความคิดเห็นหรือการคาดการที่วางอยู่บนการใช้ภาษาและวิธีการนำเสนอที่ดูเป็นวิชาการ

กรณีแรกแพทย์เจ้าของเฟซบุ๊คเขียนไว้ว่า “ทำนายได้เลยว่าอีก 10 วันต่อจากนี้...” ซึ่งการ “ทำนาย” นั้นหากมาจากคนทั่วไปก็คงเป็นแค่เรื่องของการเดาส่ง แต่เมื่อเป็นการทำนายที่มาจากแพทย์ประกอบกับการใช้คำภาษาอังกฤษว่า social distancing และ self-quarantine คำทำนายนั้นก็จะมีพลังมากกว่าแค่การเดาส่งธรรมดา อย่างไรก็ตาม ผลแห่งการทำนายนี้อาจไม่แม่นตรงมากนักเมื่อสถานการณ์การควบคุมในประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยนโยบาย social distancing และ พรก.ฉุกเฉิน ที่จำกัดเวลาอยู่นอกบ้านอย่างเข้มงวด ดังนั้นสังคมจึงควรเรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันสื่อให้มากกว่ารีบเชื่อตามกันไป

กรณีที่ 2 แม้จะเป็นการคาดการโดยมีการใช้คำว่า “ถ้า” และ “น่าจะ” แต่เมื่อเป็นการคาดการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับมีการใช้วิธีการคำนวณตัวเลข ซึ่งแม้จะเป็นเพียงแค่การคำนวณหาร้อยละธรรมดา ก็ทำให้ข้อมูลนี้เกิดความน่าเชื่อถือขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการคาดการนี้พอสมควร โดยให้ความเห็นว่าผู้ที่ไปรับการตรวจจำนวน 7,776 รายที่โรงพยาบาลแห่งนั้นไม่น่าที่จะสามารถใช้เป็นตัวแทนประชาชนกทม.ได้ดีนัก ดังนั้นการเทียบเอาว่าประชากรในกรุงเทพฯ 10 ล้านคนจะมีคนติดเชื้อ 1.22% ซึ่งจะหมายถึงมีผู้ติดเชื้อ 120,000 คนจึงไม่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก

ทั้ง 2 กรณีนี้จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราตระหนักว่าการรู้เท่าทันสื่อมิได้มีเพียงด้านที่หมายถึงความสามารถในการแยะแยะข้อมูลจริงกับข้อมูลเท็จจากการนำเสนอของสื่อ แต่ยังหมายรวมถึงการตระหนักได้ว่าข้อมูลใดเป็นความคิดเห็นหรือการคาดการณ์ และต้องตระหนักถึงแรงจูงใจของสื่อด้วยว่าคงไม่สนใจว่าข่าวจะจริง เท็จ หรือ เป็นการคาดการณ์ มากกว่าความต้องการเพิ่มยอดไลค์ ยอดแชร์ และยอดกดรับชม

โดย...

ตะวัน วรรณรัตน์ 

นรชิต จิรสัทธรรม