การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภาครัฐ*

การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภาครัฐ*

เมื่อธรรมชาติถูกทำลายจนไม่อาจรับไหว ก็จะหาวิถีทางในการคืนสมดุลให้ตัวเองและให้โลกใบนี้

 เช่น เหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่คืนสมดุลให้กับโลก เมื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ลดลงไปอย่างมาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากการตระหนักถึงปัญหาเรื่องโลกร้อนแต่อย่างใด แต่เกิดจากมาตรการควบคุมกิจกรรมและการเดินทาง และหากสามารถจัดการกับการระบาดของไวรัสนี้ได้ การทำลายธรรมชาติและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศก็อาจกลับมาสูงเหมือนเดิม เราพร้อมจะรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนั้นหรือ? สิ่งที่ต้องเร่งทำก็คือ ผลักดันให้กลไกการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทำงานได้เต็มที่

เมื่อทศวรรษ 1980(1)หลายสิบปีก่อน เยอรมนีเห็นว่าการบริโภคสินค้าและบริการในภาครัฐ มีขนาดใหญ่พอที่จะกระตุ้นให้เกิดการปรับฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ จึงริเริ่มการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ (Green Public Procurement: GPP) อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการจัดซื้อสินค้าหรือการจัดจ้างบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการทั่วไปที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยเฉพาะในด้านการประหยัดพลังงาน การใช้วัตถุดิบที่ใช้ซ้ำหรือผ่านแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงการก่อมลพิษและขยะในระดับต่ำ จนเป็นแบบอย่างให้กับหลายประเทศ

ประเทศที่ดำเนินการในเรื่องนี้ได้ดี ได้แก่ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และอังกฤษ เนื่องจากมีนโยบายชัดเจน ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง และมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในระดับประเทศ มีการแสดงข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสินค้านั้นๆ ตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) กรณีเดนมาร์กได้นำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาพิจารณาในระบบการจัดเก็บภาษีในสินค้าและบริการหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ เน้นการผลิตและใช้สินค้าซึ่งประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco — friendly Products) มากขึ้น ทำให้การดำเนินการเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ขณะที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งมีการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการค้ายุคใหม่เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ต้องประสบปัญหาในช่วงแรก จากทัศนคติที่ว่าสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่ามีราคาแพง และในตอนนั้นยังขาดการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร ขาดความรู้และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม กระทั่งได้มีการปรับปรุงและประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ เมื่อปี 2557 ประกอบด้วย 1) ระเบียบว่าด้วยการประมูลสัญญาสัมปทาน (award of concession contracts) 2) ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการสาธารณะ (public sector procurement) และ 3) ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภค (utilities sector procurement) เช่น ประปา พลังงาน ขนส่ง ไปรษณีย์ ทำให้เกิดความชัดเจนและลดความซับซ้อนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหน่วยงานภาครัฐได้เป็นอย่างมาก

ส่งผลให้ผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดภาครัฐในอียู หันมาผลิตสินค้าและบริการที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และมาตรฐานต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด อีกทั้ง พบว่านโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้น ๆ ได้เป็นตัวขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้เข้าสู่ตลาดภาครัฐในอียูได้อีกแรงหนึ่ง

สำหรับกรณีที่น่าสนใจในเอเชีย ขอยกตัวอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีกลไกนี้มาตั้งแต่ปี 2523 และจัดตั้งระบบฉลากสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเกณฑ์และให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีแผนปฏิบัติการปรับปรุงการบริหารภาครัฐให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ มีการพัฒนาเครือข่ายการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Japan Green Purchasing Network: JGPN) ในปี 2543 โดยออกกฎหมายส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ นำไปสู่สังคมที่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ส่วนประเทศไต้หวันก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภาครัฐ โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2544 ในขณะที่ความพร้อมของสินค้าและบริการมีให้เลือกอย่างหลากหลายเช่นกัน

ทุกวันนี้ หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย ได้เริ่มมีนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภาครัฐแล้ว โดยมุ่งให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ และขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่มีนโยบายนี้ จึงได้ผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและเลือกใช้บริการร่วมกับหลักเกณฑ์อื่นๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งควรเรียนรู้บทเรียนและความสำเร็จของประเทศต่างๆ ที่ทำให้กลไกนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อช่วยกันดูแลดูแลธรรมชาติและใส่ใจสิ่งแวดล้อมก่อนจะสายเกินไป

* ชื่อเต็ม :การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภาครัฐ กลไกช่วยดูแลธรรมชาติและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

โดย... 

ดร.ถนอมลาภ รัชวัตร์

นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย