คิดอนาคต เริ่มตั้งแต่วันนี้

คิดอนาคต เริ่มตั้งแต่วันนี้

การระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็น “การระบาดใหญ่” (Pandemic) ที่ส่งผลกระทบสั่นสะเทือนไปทั่วโลกก็ว่าได้

ในรายงาน “National Coronavirus Response: A Road Map to Reopening” เมื่อมี.ค. ที่ผ่านมาของ American Enterprise Institute สถาบันวิจัยเชิงนโยบายซึ่งเป็นอิสระ ไม่แสวงหากำไร ได้กล่าวถึงแนวทางการรับมือกับวิกฤตการณ์โรคระบาดไว้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ (https://www.aei.org/research-products/report/national-coronavirus-response-a-road-map-to-reopening/)

ระยะที่ 1 การชะลอการระบาด ด้วยมาตรการลดการติดต่อกัน เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม การล็อคดาวน์ปิดพื้นที่ชุมชน ปิดเมือง จนกว่าการแพร่กระจายจะชะลอตัวลง พร้อมๆ กับเพิ่มความสามารถของระบบสาธารณสุขและระบบรองรับ

ระยะที่ 2 การเปิดเมือง โดยค่อยๆ เปิดเมืองทีละส่วน เฝ้าระวังและกักตัวผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัส รวมทั้งทดสอบ หาตัวผู้ที่มีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามมาตรการและข้อจำกัดทางกายภาพบางอย่างเกี่ยวกับการชุมนุมจะยังคงต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายอีกครั้ง

ระยะที่ 3 สร้างระบบภูมิคุ้มกัน เราจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีการพัฒนาวัคซีนจนนำมาใช้ได้สำเร็จ มีเครื่องมือที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของโควิด-19 รวมถึงการเฝ้าระวังอย่างกว้างขวาง ป้องกันการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก

ระยะที่ 4 การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการระบาดครั้งหน้า โดยต้องเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากโรคติดเชื้อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนา ขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เตรียมพร้อมด้านบุคลากรและโครงสร้างการกำกับดูแลที่ชัดเจน บทความยังได้กล่าวถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดใหม่เอาไว้หลายประการ เช่น

  • พัฒนาวิธีการให้ได้มาซึ่งวัคซีนสำหรับไวรัสตัวใหม่ให้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาไม่กี่เดือน ไม่ใช่ใช้เวลาเป็นปีกำหนดเป้าหมายการพัฒนามาตรการทางการแพทย์ให้ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงมียุทธศาสตร์ แผนงาน และเงินทุนโดยเฉพาะเพื่อสร้างความสามารถให้กับกระทรวงที่เกี่ยวข้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงเตรียมพร้อมกำลังการผลิตที่สามารถขยายกำลังการผลิตตอบสนองความต้องการระดับโลกได้ในกรณีฉุกเฉิน
  • เพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็น จำนวนเตียงในโรงพยาบาลและห้องไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมากผ่านการเป็นหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน รวมถึงขยายห่วงโซ่อุปทานของอุปกรณ์ป้องกัน ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการดูแลในยามวิกฤติ สนับสนุนระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน (primary and community care) เป็นต้น
  • จ่ายเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมให้กับผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้ โดยในอนาคตควรเชื่อมโยงกับการสร้างขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นสำหรับรองรับกรณีวิกฤติที่รุนแรง
  • จัดตั้งศูนย์พยากรณ์โรคติดเชื้อระดับชาติ โดยเพิ่มขีดความสามารถของการใช้แบบจำลองโรคติดเชื้อเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจด้านสาธารณสุข

ประธานาธิบดี George W. Bush ได้เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2005 ว่า ถ้าเรารอให้โรคระบาดปรากฏขึ้น มันจะสายเกินไปที่จะเตรียมความพร้อม และวันหนึ่งชีวิตมากมายอาจสูญสิ้นไปโดยไม่จำเป็นเพราะเราไม่ได้ลงมือทำในวันนี้” เขามุ่งมั่นเตรียมการรองรับการระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือ Pandemic ทำให้เกิดแผนการแพร่ระบาดระดับชาติ จัดทำ playbook ที่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก ระดมทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีนใหม่ที่รวดเร็ว และคลังพัสดุสำคัญระดับชาติ เช่นหน้ากากและเครื่องช่วยหายใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปโครงการนี้ก็ถูกลดความสำคัญลงและถูกแทนที่ด้วยนโยบายเร่งด่วนอื่น วันนี้สหรัฐจึงกำลังได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นการเตรียมการสำหรับอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีวิสัยทัศน์ มุ่งมั่นและทำให้เกิดขึ้นจริง

ในวันนี้ ประเทศไทยเรากำลังอยู่ในช่วงระยะของการชะลอการระบาด แต่เราเห็นว่า ระยะที่ 4 หรือการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการระบาดครั้งหน้ามีความสำคัญมาก

สถาบันอนาคตไทยศึกษาเห็นว่าการจัดทำฉากทัศน์อนาคต (Scenario Building) และการวางยุทธศาสตร์เชิงอนาคต (Strategic Foresight) เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อคาดการณ์อนาคตอย่างรอบด้านและมีการเตรียมแผนรองรับกับฉากทัศน์ต่างๆ ที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น โรคระบาดครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร จะเกิดการระบาดลักษณะแบบไหน จะติดต่ออะไรได้บ้าง ติดต่อจากระบบทางเดินหายใจ หรือจากการสัมผัส วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เป็นการติดต่อจากต่างประเทศแล้วค่อยเข้ามาในประเทศไทยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไทยยังอยู่ในหลักพันคน แต่ถ้าอนาคตเกิดมีโรคอุบัติใหม่โดยมีศูนย์กลางการระบาดจากภายในประเทศขึ้นมาเอง และเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหมื่นหลักแสนขึ้นมา ไทยจะมีแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดใหม่นั้นอย่างไร  

ปัจจุบันไทยเรายังให้ความสำคัญเน้นหนักในเรื่องการชะลอการระบาด แต่ไทยเองก็ควรต้องเริ่มคิดถึงอนาคต การเตรียมการสำหรับการเปิดเมือง การสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และวางแผนเตรียมพร้อมสำหรับระยะที่ 4 ตั้งแต่วันนี้

แม้ว่าปัจจุบันสำคัญที่สุด แต่เราก็ต้องคิดถึงอนาคตและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตด้วย เพราะเราไม่รู้เลยว่า เจ้าศัตรูที่มองไม่เห็นจะจู่โจมเราอย่างจังเข้าอีกวันไหน

โดย...

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation