Brain-Based Leadership (จบ)

Brain-Based Leadership (จบ)

เมื่อสัปดาห์สิ้นเดือน ผมกับพี่ป๊อป อ. อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา เพิ่งนั่งคุยกันเรื่อง Brain-Based Leadership ในมิติของยุคดิจิทัลและ Covid-19

ซึ่งผมเขียนถึงไปแล้วหนึ่งตอนก่อนหน้านี้ งั้นมาคุยต่อเรื่องการทำงานของสมองมนุษย์ในบริบทของผู้นำอีกสักนิดให้จบ เนื้อหาส่วนใหญ่มาจากหนังสือเล่มแรกของผมกับ Nation Books ผู้นำสมองใครๆ ก็เป็นได้ (2014)

ฟันธง ตรงประเด็นต่อกันเลยนะครับ ข้อ 7-12 ของการ ‘นำสมอง’

7. ฮอร์โมนคือสิ่งที่ทำให้สมองเราว้าวุ่นอยู่ได้ Dopamine ที่ทำให้สมองกระฉับกระเฉงเกิดจากคำชม การรู้ว่าตนมีคุณค่า และการได้ทำตามไอเดียใหม่ๆ ของตนเอง Endorphins และ Oxytocin เป็นฮอร์โมนเปี่ยมสุข เพิ่มได้โดยการสร้างบรรยากาศทำงานที่เป็นมิตร สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในทีม ส่วนทางฝั่งผู้ร้ายเราก็มีเจ้า Cortisol ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวพันกับความเครียด หากเครียดน้อยไปก็ทำให้ชีวิตขาดความกระชุ่มกระชวย แต่ถ้าเครียดมากไปสมองจะเกิดอาการ overload ทำให้เครื่องแฮงค์และทำงานไม่ได้

8. สมองให้น้ำหนัก ‘ความกลัว’ มากกว่า ‘ความหวัง’ หมายถึง คนเราจดจำและมีอารมณ์ร่วมกับข้อผิดพลาดหรือข้อตำหนิมากกว่าคำชมเชยประมาณ 5 เท่า หากใครด่าเราหนึ่งครั้ง เค้าต้องชมเราห้าครั้งสมองเราจึงจะกลับไปอยู่ที่เดิม ความกลัวทำให้สมองมนุษย์เครียด หยุดการคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง มุ่งที่เอาตัวรอดเป็นหลัก ข้อคิดสำหรับผู้นำคือ ลองพิจารณาว่าปัจจุบันอัตราส่วนการชมเชยต่อการตำหนิของคุณอยู่ที่ิเท่าไหร่? ห้าต่อหนึ่งหรือหนึ่งต่อห้า?

สองข้อนี้สำคัญยิ่งในช่วง Covid-19 ทั้งผู้นำและผู้ตามต้องรู้จักผลกระทบของความกลัวต่อสมอง ยิ่งต้อง Work From Home (WFH) ยิ่งแล้วใหญ่ ขาดสังคมขาดเพื่อน ยิ่งทำให้สมองว้าวุ่น

9. สมองต้องการสมาธิและความสงบในการคิดสร้างสรรค์ อันนี้อาจเป็นจุดดีของการ WFH แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามคือความกดดัน ความกลัว และสิ่งรบกวน ในโลกที่โจทย์แห่งการแข่งขันคือนวัตกรรม และโจทย์แห่งนวัตกรรมคือไอเดียที่สร้างสรรค์ พยายามสร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้นำเห็นอะไรใหม่ๆหลายๆด้าน พลิกวิกฤติให้เป็นมุมบวก ให้เวลาสิ่งเหล่านั้นตกผลึก ‘ฟัง’ ความคิดอย่างเปิดใจ สนับสนุนให้มีโอกาสลองผิดลองถูก และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริม ระวังอย่า Micromanage คนของคุณในช่วงที่เขาอยู่ไกลตา Stay connected but empower with trust

10. สำหรับสมองเงินอาจไม่ได้เป็นตัวสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สุด งานวิจัยพบว่าหากเรามีรายได้เดือนละประมาณหนึ่งแสนบาท ความสุขของมนุษย์จะมาจากอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะสมองเป็นสัตว์สังคม มีเงินแต่รู้สึกว่าต้องประสบกับความไม่ยุติธรรมสมองไม่ชอบ ใช้ชีวิตแบบไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างพรุ่งนี้ ใช้ชีวิตที่เจ้าตัวไม่มีสิทธิ์เลือก ขาดเพื่อนคู่คิดหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร รวมถึงสถานะทางสังคมที่ย่ำแย่ ทุกวันโดนแต่นายๆทั้งหลายกดขี่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สมองคนในองค์กร disengage แม้งานได้ผลแต่คนไม่ค่อยเป็นสุข ข้อนี้โดนเต็มๆช่วง Covid-19 โดยเฉพาะกับกลุ่ม Talent ขององค์กร

11. โดยธรรมชาติสมองทำงานด้วยการเน้นจุดแข็งแบบ Strengths-Based สมองเด็กน้อยเติบโตสูงสุดในวัยหกขวบ มีการเชื่อมต่อของเซลส์จำนวนมากกว่าตอนเจ้าตัวเป็นผู้ใหญ่ถึง 3-4 เท่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกระบวนการพัฒนาของสมองใช้เวลาหลังหกปีแรกในโลกเพื่อ ‘กำจัด’ แผนที่ที่ไม่ค่อยได้ใช้ออกไป เหมือนเราถอนวัชพืชที่มาแย่งน้ำหล่อเลี้ยงของต้นไม้ที่เป็นต้นหลัก ดังนั้นอย่าเสียเวลาไล่ปลูกต้นไม้ที่สมองเราได้กำจัดไป

แต่ลองหาวิธีดึงศักยภาพที่มีอยู่แล้วของแต่ละคนออกมาใช้ ซึ่งอาจจะยากหน่อยช่วงที่ไม่เห็นหน้ากัน

12. สิ่งแวดล้อมมีผลอย่างมากต่อสมอง เพียงแค่การชม ‘อย่างไร’ ก็ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เด็กที่ถูกชมว่าเก่งจะขาดความพยายามและความกล้าที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ความล้มเหลวถูกมองเป็นอุปสรรคที่ถ้าเลี่ยงได้เป็นเลี่ยง ในมุมกลับกันเด็กที่ได้รับคำชมบนความพยายามและความวิริยะอุสาหะ จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใหม่ๆที่น่าทดลอง สนุกกับการเรียนรู้ และมีความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ หากอยากเปลี่ยนพฤติกรรมลูกน้องเราสามารถเริ่มได้ด้วยการให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของหัวหน้า สร้างสิ่งแวดล้อมที่มองวิกฤติเป็นโอกาสมากกว่าการโฟกัสแค่เพียงวิกฤติ

จากสองตอนที่รำลึกความหลังกันมา คุณผู้อ่านคงพอเห็นแล้วว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองช่วยให้ผู้นำสามารถเข้าใจ ‘แก่น’ การคิดของตนเองและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งใช้ได้เสมอในทุกสมัยทุกสถานการณ์ครับ