ข้อสังเกตต่อมาตรการเศรษฐกิจ รับมือผลกระทบ COVID-19

ข้อสังเกตต่อมาตรการเศรษฐกิจ รับมือผลกระทบ COVID-19

แม้ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เราต้องไม่สูญเสียความหวังในการผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง

และมุ่งสู่ “ประเทศพัฒนาแล้ว”

ฉะนั้น มาตรการต่างๆ ทางเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงมิตินี้ด้วย การทบทวนและการจัดสรรงบใหม่ปี 2563 ต้องตัดลดงบไม่จำเป็นและเพิ่มในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน-หลัง ตามพันธกิจของการบรรเทาปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่เปราะบาง คนที่อ่อนแอรายได้น้อยก่อน

ต้องจัดงบไปดูแลในส่วนที่จะให้ผลกระทบในวงกว้างก่อน จัดหาอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการรับมือการแพร่ระบาดของโรคในระยะต่อไป แต่ต้องตัดงบประมาณที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยโดยเฉพาะงบลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยนวัตกรรมและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ สัดส่วนของมาตรการทางเศรษฐกิจต้องไม่มุ่งไปที่นำเงินไปแจกเพื่อชดเชยรายได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงให้เกิดการจ้างงานใหม่ เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ส่วนมาตรการทางการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาทิ มาตรการสินเชื่อต่ำพิเศษ ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและความยากลำบากทางการเงินของผู้ประกอบการเท่านั้น ไม่มีหลักประกันอะไรที่สถานการณ์การเลิกจ้าง การล้มละลายลงของกิจการจะหยุดลงในเวลาอันสั้น เนื่องจากอุปสงค์มวลรวมหดตัวอย่างรุนแรงฉับพลันมากกว่าที่ควรจะเป็น จากการหยุดชะงักและทรุดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งและภาคการผลิตบางส่วน

มาตรการช่วยเหลือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือการสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงิน ต้องใช้การผ่อนคลายกฎระเบียบเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการใช้เงินทุนซึ่งในที่สุดจะแปลงมาเป็นภาระภาษีประชาชนหรือหนี้สาธารณะในอนาคต การจะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ซื้อตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ต้องเป็นตราสารที่ผู้ออกมีคุณภาพดี ภายใต้กลไกและคณะกรรมการในการพิจารณาที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินการซื้อตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน 

มีความคาดหวังว่า ธปท.ต้องดำเนินการอย่างเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐที่อาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ และต้องก่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อย่างเสมอภาค

การทำมาตรการ QE ควรซื้อเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น และการทำการขยายฐานเงินเพื่อสนับสนุนนโยบายการคลังต้องทำให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในภาคเศรษฐกิจจริงจัง เศรษฐกิจถึงเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะทำได้เพียงพยุงตลาดการเงินและราคาสินทรัพย์ทางการเงินเท่านั้น

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าเกินไป การปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าจากการไหลเข้ามาลงทุนตลาดตราสารหนี้จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี ทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ราคาปรับขึ้นไปเกินปัจจัยพื้นฐาน เมื่อเจอกับวิกฤติโรค COVID-19 เกิดความตื่นตระหนกและการขาดทุน ควรเป็นเรื่องที่นักลงทุนควรต้องรับความเสี่ยงเองระดับหนึ่ง ตราบเท่าที่ยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน 

ส่วนตราสารหนี้ของเอกชนรายใหญ่หรือตราสารหนี้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ออกตราสารหนี้จำนวนมากเป็นกลุ่มได้ประโยชน์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น อันเป็นผลจากการไม่ลดดอกเบี้ยและเงินบาทแข็ง แล้วก็เอาเงินทุนที่ระดมได้ไปลงทุนสร้างคอนโด รองรับการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ความเฟื่องฟูของ EEC ก่อนหน้านี้กระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในเขต จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวทั้งหลายอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย เป็นต้น

สัญญาณของปัญหาอสังหาริมทรัพย์แบบปี 2540 เริ่มชัดขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่กระทบต่อฐานะของระบบสถาบันการเงินมากนัก เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กู้จากธนาคารน้อยลง กู้ด้วยการออกหุ้นกู้มากขึ้น 

สถานการณ์ในปี 2563 หากเกิดปัญหาหนี้เสียอสังหาริมทรัพย์จะกระทบต่อตลาดตราสารหนี้มากกว่าธนาคาร แต่ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นก็หลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้อยู่ดี โรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างฉับพลัน มาตรการควบคุมการระบาดก็เข้ามาซ้ำเติมให้สถานการณ์การทรุดตัวลงของอุปสงค์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวรุนแรงขึ้น และน่าจะติดลบยืดเยื้อยาวนานไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงทำให้บางบริษัทอาจจะไม่สามารถชำระหนี้เมื่อตราสารหนี้ครบกำหนดได้

ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ประเด็นเรื่องการเทขายจากความตื่นตระหนกอย่างเดียว มันมีเรื่องของปัจจัยพื้นฐานเรื่องความเสี่ยงในการไม่สามารถชำระหนี้ได้รวมอยู่ด้วย

การวางยุทธศาสตร์สู่การเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” เริ่มต้นต้องทำให้ประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางก่อน ต้องแก้ปัญหาให้ “ไทย” พ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้ไปให้เร็วที่สุดอย่าช้าต้นปีหน้า โดยที่ต้องวางเป้าหมายและประมาณการได้ว่าต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปีเท่าใดและต้องใช้เวลากี่ปีจึงจะทำให้ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว (ประมาณ 1.2 หมื่นดอลลาร์ต่อคนต่อปี) มาตรฐานคุณภาพชีวิต และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระดับมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว 

เราต้องผลักดันให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 4-5% ในระยะ 15-20 ปีข้างหน้า ประมาณปี 2578-2582 ไทยของเราถึงจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หากทำให้เศรษฐกิจโตได้ปีละ 7-8% อีกประมาณ 10 ปี ไทยก้าวสู่ประเทศโลกที่หนึ่งและต้องระมัดระวังไม่ให้ทศวรรษแห่งความถดถอยเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของระบบการบริหารประเทศและวิกฤตการณ์ทางการเมือง รวมทั้งการไม่มี Rule of Law

มีงานวิชาการ งานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมาย ศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆ ในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการยกระดับประเทศ สู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่าปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรมของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามเป็น Breakthrough Growth with country innovation โรค COVID-19 ได้กดดันให้ไทยต้องเร่งรัดพัฒนานวัตกรรมของตัวเองได้แล้ว การพึ่งพา “นวัตกรรม” ของผู้อื่นจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในที่สุด