เตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ Covid ในปี 2020

เตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ Covid ในปี 2020

และแล้ว สถานการณ์เลวร้ายที่สุดในด้านเศรษฐกิจก็เป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น

ดังที่เขียนไว้ในตอนที่แล้วว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย(Recession)เพิ่มขึ้นมาก โดยกำลังจะเป็นไปในกรณีที่ 3 คือกรณีรุนแรงสุด

ในส่วนของโรคระบาด Covid-19 เป็นไปได้ว่าการลุกลามในระดับโลกจะรุนแรงที่สุดในเดือน ก.ค. และอาจมีผู้ป่วยที่สูงถึงระดับ 25% ของจำนวนประชากรโลก โดยอัตราการแพร่ระบาดจะรวดเร็วและรุนแรงเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะแต่ละประเทศ โดยเฉพาะมาตรการบริหารจัดการของภาครัฐ รวมถึงปัจจัยที่จะเป็นความหวังของมนุษยชาติ เช่น อุณหภูมิและวัคซีนเป็นหลัก

ในส่วนของเศรษฐกิจ เป็นไปได้สูงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในระดับเดียวกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-09 วิกฤติดอทคอมในปี 2001-2002 หรือวิกฤติน้ำมันในปี 1973-74 โดยวิกฤติครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤติก่อนๆ ตรงที่ครั้งนี้จะเกิดจากโรคระบาดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เกิดจากฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจแตก ทำให้ราคาสินทรัพย์และรายได้ผู้คนลดลงมาก ในขณะวิกฤตินี้เป็นเพียงการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่พร้อมจะกลับมาได้หากโรคระบาดยุติลง (โดยหวังว่าโรคจะไม่รุนแรงจนทำให้กำลังแรงงานหายไปเป็นจำนวนมากจนกระทบต่อภาคการผลิต)

ผู้เขียนเชื่อว่า มี 2 สาเหตุที่จะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

1.ความปั่นป่วนของตลาดการเงิน โดยหลังจากจำนวนผู้ป่วยในสหรัฐและยุโรป(โดยเฉพาะอิตาลี) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้องค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศว่า Covid-19 เป็นโรคระบาดร้ายแรง ประกอบกับการเกิดสงครามราคาในตลาดน้ำมัน หลังซาอุฯ และรัสเซียเพิ่มกำลังการผลิตอย่างรุนแรง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐตกต่ำจนเข้าสู่ Bear market อย่างรวดเร็วและทำให้ต้องใช้ Circuit Breaker หลายครั้ง ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

การตกต่ำที่รุนแรงในระดับนี้ มักมาพร้อมกับการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์แข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐทำนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเร่งด่วน(ทั้งลดดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่อง) โดยล่าสุดลดดอกเบี้ยจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และทำมาตรการ QE อีกครั้ง ทำให้ตลาดเงินยังไม่ช๊อครุนแรง

อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดการเงินเป็นเครื่องบ่งชี้ล่วงหน้าของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะมาถึงในไม่ช้า และความเชื่อนี้เองจะนำไปสู่ภาวะตกต่ำจริง (Self-Fulfilling Prophecy)

  1. เมื่อจำนวนของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ผู้คนจะสมัครใจหรือถูกบังคับจากทางการและนายจ้างให้กักกันตัวเองและลดการเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่งเริ่มที่จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด (Exponential)

กระบวนการดังกล่าวจะเกิดผลกระทบลูกโซ่ ทำให้รายได้ของเจ้าของกิจการและผู้ที่เกี่ยวข้องลดลง และยิ่งการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานขึ้นเพียงใด ผลกระทบก็ยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งจากการปลดคนงาน ลดรายจ่าย รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปสู่การว่างงาน การปิดกิจการ และหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

งานวิจัยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และ OECD บ่งชี้ว่า 25% ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐจะไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายประจำ (เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่า) ขณะที่ 12% ของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วจะผิดนัดชำระหนี้หากรายได้หายไป 3 เดือน

วิกฤติคราวนี้จะยาวนาน รุนแรง และส่งผลกระทบวงกว้างเท่าไร ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือระยะเวลาการระบาดของไวรัส และกระบวนการตอบสนองของทางการ

ในส่วนของการระบาดของไวรัส งานวิจัยของมหาวิทยาลัยในจีนแห่งหนึ่งที่อยู่ในฐานข้อมูลทางการแพทย์ medRxiv (ที่ยังไม่ได้รับการตรวจทานและตีพิมพ์) บ่งชี้ว่า อุณภูมิที่ไวรัสระบาดได้ง่ายคือ 6.7-12.4 ํc และหากอุณหภูมิเกิน 30 ํc ความสามารถในการแพร่ระบาดจะน้อยลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นไปได้ที่การระบาดของโรคจะชะลอลงเร็วหากเข้าสู่เดือนก.ค. ที่อุณหภูมิในเมืองเขตหนาวอย่างนิวยอร์ก โรมและเซี่ยงไฮ้ อยู่ที่ 27c ซึ่งหากเป็นจริง ก็จะเป็นการซื้อเวลาให้กับนักวิจัยทั่วโลกในการพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อกรกับ Coronavirus ในปีถัดไป

ในส่วนการตอบสนองของทางการ จะเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก ได้แก่การที่ธนาคารกลางต่างๆ ผ่อนคลายทางการเงินและเงินช่วยเหลือดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) รวมถึงผ่อนปรนและยืดการชำระหนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกรวมถึงไทยได้เริ่มทำแล้ว

กลุ่มที่สอง ได้แก่มาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายประจำของภาคธุรกิจ เช่น ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าน้ำค่าไฟ ภาษีนิติบุคคล ซึ่งมาตรการนี้ได้ใช้ในหลายที่ทั่วโลกแล้วเช่นกัน เช่น สิงคโปร์เตรียมลดภาษีนิติบุคคล เกาหลีและอิตาลีเตรียมสนับสนุนทางการเงินและลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ ไทยมีมาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ-ไฟ และค่าเช่าสถานที่ราชการ และจีนสั่งการให้เจ้าของที่ดินลดค่าเช่า โดยเตรียมเงินช่วยเหลือให้ เป็นต้น

กลุ่มสุดท้าย ได้แก่การสนับสนุนทางการเงินให้กับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้คนเหล่านี้ เสี่ยงทั้งจากที่ทำงานต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือถาวร ทำให้ขาดแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีพและอาจส่งผลกระทบลูกโซ่ได้ โดยรัฐบาลหลายประเทศได้ประกาศแล้ว เช่น จีนลดเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม ญี่ปุ่น สิงคโปร์และสหรัฐให้เงินอุดหนุนลูกจ้างที่ต้องหยุดงานชั่วคราว โดยทางการสหรัฐกำลังเจรจาเพื่อที่จะลดภาษีบุคคลธรรมดาทั่วประเทศ

อนึ่ง การที่ผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงมากทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทนนั้น ทำให้ทางการสามารถขาดดุลการคลังเพื่อช่วยเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติได้มากขึ้นในระยะสั้น

วิกฤติเศรษฐกิจ Covid-2020 กำลังจะมาแล้ว ภาคธุรกิจและทางการ พร้อมแล้วหรือยัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]